กรุงไทย คาด เศรษฐกิจไทยปี”62 โตชะลอ 4.1% หลังเกิดสัญญาณความไม่แน่นอน-สงครามการค้าสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้น

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิเผยในงาน Thailand Economic Challenges 2019 ว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่ายังเติบโต 4.1% ชะลอตัวจากเศรษฐกิจไทยปี2561 ที่คาดว่าเติบโต ที่ 4.3% โดยปัจจัยหลักมาจากสัญญาณความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น. โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน โดยคาดว่าการส่งออกไทย เติบโต4-5% รวมถึงการท่องเที่ยวยังเป็นบทบาทที่สำคัญด้วยเช่นกัน. นอกจากนี้แรงหนุนจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ตลอดช่วง10 ปี ทำให้เกิดภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศอื่นๆได้รับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกมาก ทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุน

“เชื่อว่าความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกยังอยู่ต่อในปีนี้. แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเป็นปัจจัยบวก ซึ่งส่งผลดีกับไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รวมถึงนักลงทุนไม่ได้กังวลด้านเสถียรภาพทางการเงินของไทยมาก เพราะไทยมีทุนสำรองเพียงพอ”

ดร.รุ่ง โปษยานนท์ กล่าวต่อว่า สำหรับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าในช่วงต้นปี 2562 เป็นการแข็งค่าเพียงระยะสั้น โดยปัจจัยหลักมาจากความผันผวนจากปัจจัยภายนอก รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในปีนี้ ส่งผลให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงค่าเงินบาทของไทยจะกลายเป็น save haven currency อีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดเหตุการณ์นี้ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเงินทุนไหลออกจากประเทศเพื่อนบ้านและถูกนำมาพักไว้ที่ไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันค่าเงินบาทอาจแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่อาจจะได้รับผลกระทบนี้ แต่เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ 32.00บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“เราคงต้องจับตาดูกำลังซื้อของนักท่องเทียวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยด้วย เนื่องจากจีนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลงบางช่วง. ส่งผลให้ค่าเงินหยวนถูกกดดันให้อ่อนค่าลง อาจมีโอกาสอ่อนค่าลงไปอีก เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ซึ่งจะทำให้อำนาจการซื้อของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในไทยก็อาจลดลงบ้างในด้านการจับจ่ายใช้สอย”