“กิตติพันธ์” ตั้งโต๊ะเปิดใจกรณีปล่อยกู้ EARTH

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ถูกกล่าวว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ว่า หลังจากที่ได้รับหนังสือกล่าวหาจากคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษของธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 61 ที่ผ่านมา ว่าได้กระทำการทุจริตและบกพร่องเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่ EARTH นั้น ขอยืนยันว่าได้มีการอนุมัติสินเชื่อไปตามกระบวนการของธนาคารกรุงไทยทุกขั้นตอน

โดยเมื่อปี 58 EARTH ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยด้วยจำนวนสองวงเงิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งในขณะนั้น EARTH ถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย และงบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท PWC ที่เป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก โดยนายกิตติพันธ์ได้เป็นผู้ดูแลสายงานที่นำเสนอขออนุมัติสินเชื่อให้ EARTH ซึ่งคำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

ทั้งนี้ หลังจากที่ EARTH ได้รับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวแล้ว ธนาคารกรุงไทยได้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหรือข้อมูลอันเดอร์ไรเตอร์ หุ้นกู้ของ EARTH 2 รุ่น ในวงเงินรวม 5,500 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ถือเป็นการกลั่นกรองอีกครั้งว่าเป็นลูกค้าที่ดีที่ธนาคารจะนำหุ้นกู้ไปขายให้กับลูกค้ารายย่อยได้

อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ค. 60 เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น โดยเริ่มจากจำนวน 200 กว่าล้านบาท แต่เมื่อไม่ได้รับการผ่อนผันทำให้เกิดผลกระทบกับวงเงินอื่น หรือเรียกว่า Cross Default ทำให้วงเงินอื่นทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้สินเชื่อทั้งหมด 12,000 ล้านบาทกลายเป็น NPL โดยความเสียหายที่เกิดกับธนาคารกรุงไทย จากปัญหา NPL ของ EARTH ไม่ได้เกิดจากสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 4,500 ล้านบาท

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษ เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 60 โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบนั้น นายกิตติพันธ์มีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะคณะกรรมการบริหารฯ ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย เพราะมีส่วนในการอนุมัติสินเชื่อด้วย นอกจากนี้ยังมองว่าข้อกล่าวหามีเคลือบคลุมเครือมาก ไม่ชัดแจ้ง เพราะไม่ได้บอกว่าทำผิดอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และมีหลักฐานอะไร เพื่อจะได้ชี้แจงและแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้องและครบถ้วน

“ผมได้รับข้อกล่าวหา แต่ไม่มีรายละเอียดว่าผมทำผิดอะไรบ้าง อย่างไร เมื่อไหร่ เพื่อผมจะได้แก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง แต่ธนาคารกรุงไทยไม่เคยมีความชัดแจ้งในเรื่องนี้ ผมจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ทราบจะชี้แจงอย่างไรกับคณะกรรมการตรวจสอบที่ธนาคารกรุงไทยตั้งขึ้นมา” นายกิตติพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกิตติพันธ์กำลังพิจารณาร่วมกับทีมกฎหมายเพื่อยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาภายใน 60 วัน และปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ตามปกติ อย่างไรก็ตามเผยว่ากลุ่ม CIMB ได้มีการหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไม่เป็นทางการถึงแนวทางที่เหมาะสมแล้ว