ราคาน้ำมันดิบพุ่งต่อ หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนมีทิศทางที่ดี

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562 มีทิศทางบวก โดยมีการระบุถึงคำมั่นสัญญาของจีนที่จะซื้อสินค้าจำนวนมากจากสหรัฐฯ ทั้งสินค้าภาคการเกษตร ภาคพลังงาน และสินค้าในภาคการผลิตและการบริการ

+ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียให้ความเชื่อมั่นว่าการปรับลดกำลังการผลิตจะสามารถทำให้ตลาดน้ำมันเข้าสู่ภาวะสมดุลได้

+ โดยซาอุดิอาระเบียเปิดเผยว่าในเดือน ก.พ. 2562 จะส่งออกน้ำมันดิบ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากเดือน ม.ค. 2562 ที่ระดับ 7.2 ล้านบารเรล์ต่อวัน

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 2562 ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล ทางด้านปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านบาร์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 10.6 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดน้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงซบเซา ขณะเดียวกันอุปทานยังอยู่ในภาวะล้นตลาด โดยปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในตะวันออกกลางที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีนและเกาหลี

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโตชะลอตัวลง หลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและยูโรโซนอ่อนแอลง

ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังประเทศรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียยืนอยู่ที่ 7.253 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธ.ค. 61 ซึ่งปรับตัวลดลงจากในเดือนพ.ย. ที่ส่งออกอยู่ที่ 7.717 ล้านบาร์เรลต่อวัน