“FETCO” เผยดัชนีความเชื่อมั่น นลท.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม 5.25%

ปริญญ์ พานิชภักดิ์

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนม.ค.62 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สาม 5.25% อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว จากความเสี่ยงเจรจาการค้า – ฟันด์โฟลว์ – การปรับลดจีดีพีโลกปี’62 ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ส่วนการเมือง – กำไรบจ.จากช่วงที่สำรวจยังเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2562 ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกันอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐ การไหลเข้าออกของเงินทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2562 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

– ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2562) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 120 – 159) โดยลดลง 5.25% มาอยู่ที่ระดับ 92.75
– ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 39 เดือนอยู่ที่ Zone ซบเซา (Bearish)
– ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral)
– ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish)
– ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)
– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง
– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณืความขัดแย้งระหว่างประเทศ

“ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนธันวาคม เคลื่อนไหวปรับตัวลดลงตลอดเดือน จากระดับสูงสุดที่ 1,672 จุด มาต่ำสุดที่ 1,548.37 จุด ก่อนมาปิดที่ 1,563.88 จุด จากความกังวลผลกระทบการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่คืบหน้า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 0.25% มาอยู่ที่ 2.00-2.25% การประกาศยุติมาตรการ QE ของ ECB การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและโลกปี 2562” นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมาจากปรับขึ้นนโยบายทางการเงินของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่มองว่าหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) หมวดเหล็ก (STEEL) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด

นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ความคืบหน้าการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐลงเหลือ 2 ครั้งในปี 2562 การโหวตข้อตกลง Brexit ในสภาอังกฤษในเดือน ม.ค. และเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และการเข้าสู่การเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562

พร้อมกันนี้ ในงานแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยสัญญาณการลงทุนในมุมมองสถาบันต่างประเทศว่า จากประเด็นความขัดแย้งในการเมืองสหรัฐฯ จนเป็นผลให้เกิดการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ (Government Shutdown) เมื่อ 2 พรรคใหญ่เกิดความขัดแย้งกันการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำได้ช้าลง สถานการณ์การเมืองอเมริกาดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ยากขึ้น โดยบล. ซีแอล เอส เอ ประเมินว่าอาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง หรืออาจไม่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว และค่าเงินในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) มีโอกาสแข็งค่าขึ้น

“นักลงทุนต่างชาติยังจับตาการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ลดงบดุลแบบ “Autopilot” แต่จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในแต่ละเดือนร่วมด้วย ดังนั้นสภาพคล่องโลกรอบนี้อาจมีมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เมื่อดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ขึ้นยากหรือแทบจะขึ้นไม่ได้ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง เป็นโอกาสให้หุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มูลค่าค่อนข้างถูกกลับมา ‘Outperform’ และดึงดูดกองทุนสถาบันต่างชาติได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยมูลค่าหุ้นอาจไม่เพียงพอ ต้องมีปัจจัยกระตุ้น (Catalyst) ซึ่งเรามองว่าปัจจัยการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คาดว่าสหรัฐฯ จะยุติการยกระดับการขึ้นภาษี ซึ่งถือเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น (ปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์)” นายปริญญ์ กล่าว

ด้านประเด็นที่น่ากังวล กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ “Late Expansion Cycle” หรือช่วงปลายของวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น รวมทั้งเข้าสู่ “Credit Cycle” จากการปล่อยสินเชื่อ และภาระหนี้ หลังไม่เห็นวิกฤตการเงินโลกมานานกว่า 11 ปี จึงเชื่อว่าใน 1-2 ปีนี้อาจเห็นวิกฤตการเงินโลกได้ อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ยังมีความน่าสนใจในการลงทุนอยู่ แต่ในปี 2563 “Credit Spread” จะเริ่มตึงตัว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลชัดเจนช่วงกลางถึงปลายปี 2563 และจะเป็นผลให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปยากขึ้นอีกด้วย


ส่วนปัจจัยใกล้ตัวของประเทศไทยอย่างประเทศจีน เปลี่ยนมาใช้ “Soft Power” ในการลงทุนนอกประเทศอย่างอาเซียนและประเทศไทย ในสภาวะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เริ่มชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งที่จะนำมาซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผลให้เกิดความสบายใจของต่างชาติที่จะเข้ามาเซ็นสัญญา โดย บล. ซี แอล เอส เอ เคยให้เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นปีนี้ไว้ที่ 1,850 จุด ที่ P/E 14.8 เท่า ราคาถือว่าไม่สูงเกินไป หากนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะรอบนี้มูลค่าในตลาดอาเซียนปรับลดลงมาพอสมควร รวมทั้งประเทศไทยยังมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างน้อย มีวินัยทางการเงิน มีสกุลเงินและสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพ ทำให้ประเทศไทยค่อนข้างโดดเด่นในประเทศเอเชียทางตอนใต้ที่มีภาระหนี้สูง