เลือกตั้งบีบศก.ไทยสุญญากาศ ไร้ปัจจัยบวกขยับสู่เงินฝืด

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KPP)
“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” เตือนเศรษฐกิจไทยปี 2562 ไร้ปัจจัยบวก นักลงทุน นักธุรกิจ “wait & see” โฉมหน้ารัฐบาลหลังเลือกตั้ง ผวาถ่ายโอนอำนาจไม่รื่นฉุดเศรษฐกิจ สัญญาณการใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอ กดดันเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” ติงนโยบายการเงินแบงก์ชาติตึงตัวมากไป สารพัดปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกเพิ่มระดับความไม่แน่นอน

 

ภาวะสุญญากาศ “wait & see”

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KPP) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของประเทศ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2562 ว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศถือเป็นความเสี่ยงสำคัญ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คิดว่ามีความพยายามจะเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ก็เลื่อนไปไม่ได้มาก ซึ่งจากความไม่แน่นอนของวันเลือกตั้งนำไปสู่ความไม่แน่นอนในการถ่ายโอนอำนาจ

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาและมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ผ่านมารัฐบาลบอกว่า จะถ่ายโอนอำนาจตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 62 ที่มีการเลือกตั้ง และกระบวนการถ่ายโอนอำนาจจะเสร็จสิ้นประมาณมิถุนายน 2562 ซึ่งนักลงทุนก็จะรอดูก่อนว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในประเทศนี้ แค่นี้ครึ่งแรกของปีก็มีความไม่แน่นอนแล้ว แต่ถ้าทำให้กระบวนการตรงนี้ยาวไปอีก ยิ่งทำให้ความไม่แน่นอนยาวขึ้น ทำให้ปีนี้จึงเป็นภาวะสุญญากาศและ wait and see ทุกอย่างหยุดรอก็มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะแผ่ว”

สำหรับที่โบรกเกอร์หลายรายมองว่าการหาเสียงจะทำให้มีเม็ดเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะมีการใช้จ่ายที่มากมาย เพราะรัฐธรรมนูญมีการควบคุมการใช้เงินของผู้สมัครค่อนข้างมาก และจากที่รัฐธรรมนูญเขียนให้เข้าสู่อำนาจยาก ความไม่แน่นอนสูงจากเสียงของ ส.ว. 250 เสียง ทำให้ผลตอบแทนลงทุนของการเลือกตั้งต่ำมาก ไม่คิดว่าจะมีการใช้เงินหาเสียงมาก

เสี่ยงเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด”

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยนอกจากอยู่ในภาวะชะลอตัว ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยเสี่ยงเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ทำให้ไม่มีกำลังซื้อจากในประเทศ สัญญาณจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.36% ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เพราะราคาน้ำมันลดลงจากเงินเฟ้อที่ต่ำค่อนข้างมากติดต่อกันมาหลายปีนั้นมีความเสี่ยงและดึงกลับขึ้นมาได้ยากมาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารไม่ควรจะปรับลง แต่กลับลดลงจากที่คาดไว้ที่ 0.8% ลดลงมาแตะ 0.68% แสดงว่ามีโมเมนตัมที่เงินเฟ้อจะแผ่วลง จึงมีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะไหลลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่แบงก์ชาติยังขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อเป็นขาลง ทำให้นโยบายการเงินตึงกว่าที่คิด สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งทำให้การใช้จ่ายน้อยลงไปอีก

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก เป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดนสองเด้ง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าแตะ 31.96 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะแข็งค่าทั้งภูมิภาคแต่เงินบาทถือว่าเป็น best performing emerging markets currency หรือเป็น safe haven

ถ่ายโอนอำนาจฉุด ศก.ดาวน์ไซด์

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าสวนขึ้นอีกจากนโยบายทางการเงินที่ตึงตัว ทำให้บาทแข็งในช่วงที่ downside risk ของเศรษฐกิจโลกเปิด ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้มองไม่เห็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ประเทศอยู่ในโหมดเตรียมการเลือกตั้ง ทุกคนจะพูดเรื่องการเลือกตั้ง นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มี อย่างไรก็ตามประเด็นที่นักลงทุนและนักธุรกิจสนใจจริง ๆ ไม่ใช่ว่า “เลือกตั้งเมื่อไหร่” แต่ “ผลเป็นอย่างไร” รัฐบาลชุดใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นนายกฯ รัฐมนตรีคลังเป็นใคร นโยบายเป็นอย่างไร รัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพมั้ย

“เมื่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจมองภาพไม่เห็น แล้วจะหลับหูหลับตาลงทุนได้อย่างไร อาจจะเป็นไปได้ถ้าภาวะเศรษฐกิจประเทศดีมากโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ เงินเฟ้อก็ขาลง และเศรษฐกิจโลกดูท่าทางแย่ เมื่อดูในกรอบแบบนี้จึงนึกไม่ออกเลยว่านักธุรกิจหรือนักลงทุนจะรีบลงทุนในประเทศไทยเพื่ออะไร”

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิมองถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามาว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจจากระบอบเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยไม่มี honeymoon period ไม่ว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็มีปัจจัยเสี่ยง การพยายามยื้อเลือกตั้งทำให้คนเริ่มอึดอัดมากขึ้น และอาจโดนกระแสตีกลับมาแรงมาก สมมติพรรคฝ่ายรัฐบาลชนะ หรือไม่ชนะแต่หาทางเป็นนายกฯได้ คนก็ยิ่งอึดอัด จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน แต่หากฝ่ายที่แอนตี้รัฐบาลขึ้นมาตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็จะเข้ามารื้อระบบต่าง ๆ จะไปแก้รัฐธรรมนูญ รื้ออำนาจ ป.ป.ช. งัดคดีนาฬิกากลับมาสอบสวนใหม่ ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทันที

ลงทุนรถไฟฟ้ารัฐแบกภาระ

สำหรับนโยบายการเร่งลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ นั้น ดร.ศุภวุฒิมองว่า เมื่อสร้างเสร็จ หลาย ๆ สายอาจเจอปัญหาขาดทุนและเป็นภาระของภาครัฐมหาศาล ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาขาดดุลภาครัฐ แม้เอกชนจะคาดการณ์ตัวเลขไว้ดี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ดีตามที่คาดการณ์ เพราะอีก 5 ปีสร้างเสร็จ ขณะที่ประเทศไทยกลายเป็น aging society คนวัยทำงานและวัยเรียนลดลง กลุ่มคนที่ใช้รถไฟฟ้าประจำไม่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้โดยสารจะต่ำมาก

เรื่องที่สองคือ 5G ทำให้สามารถทำงานที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานด้วยซ้ำ สามคือ รถไฟฟ้าแบบอูเบอร์ ก็จะเกิดการแข่งขันอีก ถึงเวลานั้นภาระของรัฐบาลจะมหาศาล และไม่สามารถปิดแต่ละสายที่สร้างไปแล้วได้ ซึ่งจะต้องรันไปเรื่อย ๆ หากรัฐบาลและเอกชนมีปัญหากันก็ต้องมาเจรจาต่อรองกัน และรัฐบาลต้องมาอุ้ม ไม่สามารถปิดได้

ขณะที่รัฐบาลโหมโปรโมตเรื่องการลงทุนในอีอีซี มองว่าการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินสำเร็จ (ถ้ามันสำเร็จ) ซึ่งต้องมาพร้อม ๆ กับโปรเจ็กต์สนามบินอู่ตะเภา ถึงตอนนั้นการลงทุนถึงจะมาจริง

เสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

ขณะที่ภาพต่างประเทศ ตลาดหุ้นผันผวนมาก เป็นขาลงที่อเมริกาและหุ้นลงกันทั่วโลก มาจาก 2เรื่อง คือ ตลาดหุ้นคาดการณ์อนาคตซึ่งเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะชะลอตัวซึ่งจะกระทบกันหมด เรื่องที่สอง คือตลาดหุ้นปรับลดลงมาก ๆ อย่างช่วงปีที่แล้ว จุดสูงสุดตลาดหุ้นอเมริกาประมาณเดือนกันยายน เทียบกับจุดต่ำสุดปลายปี หุ้นปรับลดลงไป 15% ความมั่งคั่งหายไปราว 4.5 ล้านล้านเหรียญ และถ้ารวมทั่วโลกลดลงมากกว่านี้ ทำให้คนใช้จ่ายลดลง พวกนี้เป็น downside risk ทั้งนั้น ยังไม่รวมปัจจัยอื่น เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ผลเบร็กซิต ตรงนี้จะมีผลพวงมาสู่ประเทศไทยได้ทั้งสิ้น เพราะเราเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิมองว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 2 ปีข้างหน้า เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่ภาวะถดถอยได้ง่าย นำโดยอเมริกาที่เศรษฐกิจขึ้นมา 10 ปีแล้ว ถือว่าฟื้นยาวกว่าปกติเท่าตัวแล้ว

ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็มีปัญหาหนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้า และอีกส่วนหนึ่งคือจีนมีปัญหาหนี้ภายในประเทศสูงมาก ทำให้กังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยภายใน 2 ปีนี้ หากไม่จริงก็ดี เพราะถ้าจริงจะลำบากทั้งหมด

“ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงที่กำลัง manage ให้เศรษฐกิจ soft landing อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไม่เคยจัดการให้ soft landing ได้สำเร็จ ส่วนใหญ่จะเผชิญกับ hard landing” ดร.ศุภวุฒิกล่าวและว่า ปัญหาข้อพิพาททางการค้าไม่สามารถจบได้ เพราะลึก ๆ ไม่ใช่การเจรจาการค้า แต่เป็นการต่อสู้ชิงการเป็นผู้นำเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ซึ่งจะเป็นแบ็กโบนของเศรษฐกิจโลกในอนาคต เพราะไม่ว่าการทำโมบายแบงกิ้ง ระบบติดตาม (จีพีเอส) รถยนต์ ไอโอที ฯลฯ ทุกอย่างต้องใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ใครก็ตามที่เป็นผู้นำผู้กำหนดมาตรฐาน 5G ให้คนอื่นตาม คนนั้นก็คือผู้นำเศรษฐกิจโลก ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเห็นความพยายามของสหรัฐในการสกัดหัวเว่ยและแซดทีอี ยักษ์เทคโนโลยีของจีน

คลิกอ่านเพิ่มเติม…“ศุภวุฒิ” ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยปี 62 โตชะลอตัว เตือนตั้งรับปัจจัยเสี่ยงตปท.-เฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!