ปัญหากำลังคลี่คลาย ไม่ควรขายตอนนี้

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย นายพรเทพ ชูพันธุ์ บล.ไทยพาณิชย์

ปี 2561 ผ่านพ้นไปด้วยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ปรับตัวลงถึง 11% จากราว 1,750 จุด เมื่อปลายปี 2560 เหลือเพียง 1,564 จุด ณ สิ้นปี 2561 นับเป็นปีที่แย่ในแง่ของผลตอบแทน แต่ไม่สูญเปล่าเพราะพื้นฐานการเติบโตที่ดีของทั้งเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2561 บวกถึงราว 4% และกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS 9 เดือนแรก +12% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และน่าจะจบเต็มปีที่ราว ๆ 10% YOY ทำให้ valuation หรือความถูก/แพงของตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ “น่าสนใจ”

ด้าน 12-month forward P/E (อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงจาก 16.5 เท่า เหลือ 13.5 เท่า ซึ่งนับว่าไม่แพงแล้ว และเมื่อกลับเศษ-ส่วนของ P/E จะได้ผลตอบแทนของหุ้นคิดเป็นกำไรต่อราคา หรือ earnings yield (E/P) ที่ระดับราว 7.4% ซึ่งเมื่อเทียบกับผลตอบแทนตราสารหนี้ (พันธบัตร 10 ปี) ซึ่งอยู่ที่ราว 2.5% แล้วพบว่าหุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ถึงเกือบ 7.4-2.5% เท่ากับ 4.9 percentage points (PP) ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังอยู่ถึง 1.5 SD หมายความว่า หุ้นให้ผลตอบแทนดี น่าสนใจลงทุน

ความถูกของราคาหุ้น (เมื่อเทียบกับกำไรที่บริษัททำได้) ดังกล่าว ทำให้ SET Index มีโอกาสปรับขึ้นมากกว่าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีข่าวดีมากระตุ้น เพราะหุ้นที่ปรับตัวลงด้วย sentiment ก็ต้องขึ้นด้วย sentiment เช่นกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อปัจจัยความกังวลคลี่คลาย หรือปัจจัยการเติบโตทำได้ตามคาด (หรือดีกว่าคาด)

สิ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงและกำลังมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในปีนี้ (เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรก) ได้แก่

1.สงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีทิศทางดีขึ้น หลังผู้นำ 2 ประเทศพูดคุยกันที่ประชุม G20 เมื่อปลายปีก่อน ตามด้วยการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าของจีนและทวิตเตอร์ด้วยโทนที่เป็นบวกจากผู้นำสหรัฐ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการประชุมกันในสัปดาห์ 7 ม.ค. 2562 ดังนั้น แรงกดดันทางด้านนี้จึงมีแนวโน้มลดลง

2.การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่กดดันหุ้นทั่วโลกในปี 2561 เริ่มมีสัญญาณที่จะชะลอลง โดยล่าสุด Fed dot plot มีการปรับลดมุมมองของ FOMC จากเดิมจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2562 ลดลงเหลือเพียง 2 ครั้ง ซึ่งถ้าดูจากตลาดอนุพันธ์ตราสารหนี้ พบว่าตลาดมั่นใจถึง 80% ว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 1 และกว่า 50% อาจไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีแรก ดังนั้นแรงกดดันด้านนี้จึงลดลง

3.ปัญหาความไม่แน่นอน Brexit หลังจากรัฐสภาอังกฤษต้องเลื่อนการพิจารณา “ดีล” ที่นายกฯไปตกลงไว้กับสหภาพยุโรป (EC) ซึ่งน่าจะเป็นช่วง 14-18 ม.ค. ซึ่งสภาอาจต้องรับดีลนี้แม้ไม่ชอบ (ความน่าจะเป็นสูงที่สุด ผลกระทบทางลบต่ออังกฤษบ้าง) เพราะหากไม่รับดีลนี้ก็มีความเสี่ยงที่อังกฤษจะ crashed out ออกไปจาก EU โดยไม่มีดีลใด ๆ รองรับ (ความน่าจะเป็นน้อยที่สุด แย่ต่ออังกฤษอย่างมาก และไม่ดีต่อยุโรปด้วย) ล่าสุดเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้กลับไปลงประชามติกันใหม่ (ความน่าจะเป็นมากขึ้น และอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดหากเปลี่ยนใจอยู่ต่อ) ดังนั้น แรงกดดันนี้ก็กำลังจะลดลงเช่นกัน

4.ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำหลุด 50 ดอลลาร์/BBL ส่งผลกระทบต่อกลุ่มพลังงาน (สัดส่วนใหญ่ถึงราว 1/5 ของตลาดหุ้นไทย) ล่าสุดมีสัญญาณดีขึ้นหลัง OPEC ลดกำลังการผลิต -530 KBPD ใน ธ.ค. (ลดลงแรงสุดในรอบ 2 ปี) ก่อนหน้าที่ข้อตกลงลดกำลังการผลิตจริงจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2562 ด้วยซ้ำ ดังนั้น ปัญหานี้ก็มีแนวโน้มดีขึ้น

5.ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ แม้จะเป็นเรื่องแน่นอนแล้วว่าเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอลง แต่ก็เป็นการชะลอลงจากจุดสูงผิดปกติกลับสู่ระดับที่กลาง ๆ (sustainable) ในระยะยาว ไม่ใช่วิกฤต ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจ ต.ค. และ พ.ย. บ่งชี้ว่า GDP ไตรมาส 4 น่าจะฟื้นกลับมาโตราว 4% (ทั้งปี 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 4.2%) ซึ่งปี 2562 รายงานนโยบายการเงิน (2 ม.ค. 62) ของ ธปท.คาดว่า GDP จะขยายตัวราว 4% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงศักยภาพ (ไม่ร้อนแรงไป ไม่ต่ำเกินไป) ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยภายในประเทศ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC การกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ ดังนั้น ความกังวลนี้ก็น่าจะคลี่คลายด้วย

นักลงทุนระยะยาว “ไม่ควร” ขายหุ้นออกตอนนี้เพราะสถานการณ์กำลังจะดีขึ้น โดยเฉพาะเดือน ม.ค.เป็นฤดูกาลหุ้นขึ้น โดย 4 ปี ใน 5 ปีที่ผ่านมา SET index ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2.2% เทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือ MOM (ตามด้วย ก.พ.ขึ้นเฉลี่ย 1.2% MOM)

ซึ่งแปลว่าอย่างน้อย ๆ เราน่าจะได้เห็น SET Index กลับไปที่ 1,600 จุดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า เมื่อความกังวลที่กำลังคลี่คลาย ประกอบกับ “การเลือกตั้ง” มักส่งผลดีโอกาสเห็นตลาดหุ้นไทยดีดกลับไปที่จุดสูงสุดเดิมคือ 1,850 จุด ก็มีไม่น้อย โดย top pick (หุ้นที่น่าลงทุน) ในไตรมาส 1 ของเรา ได้แก่ ROJNA, WHA, BBL, KTB, CPF และ TU