เงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าต่อเนื่อง ตลาดคาดเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 7-11 มกราคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (7/1) ที่ระดับ 31.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (4/1) ที่ระดับ 32.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวในการประชุมประจำปีของสมาคมเศรษฐกิจอเมริกันที่รัฐแอตแลนตาในวันศุกร์ (4/1) ว่าเฟดจะใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเฟดจะไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงแผนการปรับลดงบดุล หากการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน โดยนักลงทุนคาดหวังว่า ถ้อยแถลงของนาย
พาวเวลในครั้งนี้จะบ่งชี้ถึงการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้ว่าจะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrall) ที่จัดทำโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 312,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 179,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ 176,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการเจรจาข้อตกลงทางการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนในวันจันทร์ (7/1) โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินอื่นเล็กน้อยในวันต่อมา (8/1) จากการให้สัมภาษณ์เชิงบวกต่อการประชุมดังกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากสงครามการค้าผ่อนคลายลงได้บ้าง และหนุนให้ตลาดทุนมีมูลค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ดีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์การเปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐ (US Government Shutdown) ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว จากการที่รัฐบาลสหรัฐกับสภาคองเกรซไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมในการผ่านร่างงบประมาณที่เป็นประเด็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงหลักของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่สภาคองเกรสได้คัดค้านเนื่องจากมองว่างบประมาณดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นต่อประเทศในขณะนี้

รวมทั้งการประกาศรายงานการประชุมเฟด (FOMC Minutes) รอบล่าสุดในวันพุธ (9/1) ได้ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในปีนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน ในวันพฤหัสบดี (10/1) โดยลงมาทดสอบที่ระดับ 31.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ (11/1) นักลงทุนติดตามการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของสหรัฐ ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และสำหรับปัจจัยภายในประเทศไทย ตลาดยังคงรอความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเดิมมีแผนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.88-32.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (7/1) ที่ระดับ 1.1408/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/1) ที่ระดับ 1.1412/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.1 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี โดยลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ระดับ 51.3 และลดลงจากระดับ 52.7 ในเดือนพฤศจิกายน รายงานระบุว่า การชะลอตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงในฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของกลุ่มเสื้อกัั๊กเหลือง ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางสัปดาห์จากแรงหนุนในประเด็นการปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐ (US Government Shutdown) ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว และนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น

ประกอบกับมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีนได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันเช่นเดียวกับเงินปอนด์สเตอร์ลิง จากประเด็นการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งมีแนวโน้มว่าสหราชอาณาจักรอาจจะต้องแยกตัวออกมาโดยไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าร่างข้อตกลง Brexit ของนางเทเรซ่า เมย์ อาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษในสัปดาห์หน้า (14/1) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นางเมย์ได้ตัดสินใจเลื่อนการลงมติดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่มีกำหนดในวันที่ 11 ธันวาคม 2561

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซนหลายประเทศได้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนอาจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยในวันอังคาร (8/1) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยปรับลดสู่ระดับ 107.3 ในเดือนธันวาคมจากระดับ 109.5 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในยูโรโซนได้ปรับลดลงสู่ระดับ -6.2 ในเดือนธันวาคมจากระดับ -3.9 ในเดือนก่อนหน้า รวมทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนก็ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าแต่ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1400-1.1570 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/1) ที่ระดับ 1.1526/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (7/1) ที่ระดับ 108.49/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/1) ท่ี่ระดับ 107.95/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการทำกำไรกลับหลังจากที่เงินเยนปรับตัวแข็งค่าที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนเนื่องด้วยความกังวลต่อสถานการณ์การปิดทำการของรัฐบาลสหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของทุกภูมิภาคในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ในระหวางสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.80-109.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/1) ที่ระดับ 108.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!