โบรกประกันเก็งเบี้ยรับรวมโต 5% ชูเมกะโปรเจ็กต์ปัจจัยหนุนธุรกิจ

ภาพ Pixabay

โบรกฯประกันฯ หวังเมกะโปรเจ็กต์หนุนธุรกิจนายหน้าประกันโต คาดดันเบี้ยรับรวมเพิ่ม 4-5% พอร์ตขยับแตะ 1.05 แสนล้านบาท ขณะที่ประกันรถส่อกำไรทรุด รับ “ยอดเคลมพุ่ง-รถใหม่ขายยาก-ใช้ค่าขาดประโยชน์” ฟาก “ทีคิวเอ็ม” รุกออนไลน์ ปั้นเบี้ยโต 10%

นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 นี้ ประเมินว่าธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยจะมีเบี้ยรับทั้งระบบอยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท เติบโต 4-5% จากปีก่อน โดยภาพการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจโดยรวมเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยทรัพย์สินที่จะทำกำไรได้ ซึ่งส่วนหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่มีความเสียหาย (ลอสเรโช) แบบเกิดเหตุการณ์ที่จะ ส่งผลกระทบหนัก ๆ ด้วย

ขณะที่ในส่วนธุรกิจประกันภัยรถยนต์ปีนี้ไม่เห็นการเติบโตมากนัก โดยน่าจะทำกำไรได้น้อยจากผลกระทบยอดเคลมที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงปีนี้บริษัทประกันต่าง ๆ อาจจะมีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถยนต์อย่างต่ำ 6-7% อันเป็นผลจากการปรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการปรับราคามาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ที่ผ่านมา

“เมกะโปรเจ็กต์จะทำให้ธุรกิจประกันภัยโดยรวมโตแน่ ๆ ซึ่งประเทศไทยไม่โตมาหลายปีแล้ว แต่ประกันภัยรถยนต์อาจจะไม่โตนัก เพราะการขายรถใหม่ปีนี้คงไม่ง่าย” นายชนะพันธุ์กล่าว

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ปีนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยอาจจะโตแค่ 4-5% แต่หากจะให้เติบโตได้มากกว่านี้ จะขึ้นอยู่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ว่ารัฐจะลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เช่น โครงการ EEC ที่รัฐวางงบประมาณรายจ่ายไว้ 1.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยลงทุนเพื่อดึงนักลงทุนเข้ามา และคาดว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังผ่านช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว

“ตอนนี้ S-curve ของบ้านเราไม่มี อาจจะเห็นจีดีพีโตประมาณ 4% ในปี”62แต่ถ้าสังเกตการณ์ธุรกิจประกันวินาศภัยจะโตต่ำกว่าจีดีพีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็หวังว่าจะมี S-curve ใหม่ เช่นเดียวกับยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง” นายกี่เดชกล่าว

นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) กล่าวว่า บริษัทไม่กังวลถึงกรณีที่ประกันภัยรถยนต์ปีนี้จะเติบโตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังสามารถเติบโตได้จากธุรกิจประกันภัยทรัพย์สิน ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และอื่น ๆ

ส่วนการแข่งขันธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยจะเปลี่ยนไปรุกช่องทางขายผ่านดิจิทัลมากขึ้น ตามพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้แต่ละโบรกฯที่มีกว่า 600 ราย ต้องเร่งหันมาลงทุนเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งโบรกฯรายเล็ก ๆ อาจจะเสียเปรียบเนื่องจากต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก

“เราถือว่าค่อนข้างได้เปรียบที่มีครบทุกช่องทางขาย และเป็นโบรกฯประกันรายแรกที่เข้าจดทะเบียน ตลท. ซึ่งขณะนี้กำลังระดมทุนเพื่อใช้เงินพัฒนาระบบออนไลน์” นายอัญชลินกล่าว

นายอัญชลินคาดว่าปีนี้เบี้ยประกันรับรวมบริษัทจะเติบโตได้กว่า 10% ใกล้เคียงกับปี”61ที่ทำได้ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% ซึ่งเติบโตจากช่องทางแบบ face to face แต่เริ่มเห็นรายได้จากช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQM กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับบริษัทประกันภัยที่เป็นพันธมิตร ร่วมพัฒนาโปรดักต์ใหม่ คาดว่าไตรมาส 1/62 จะออกมาขายได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!