5 เรื่องต้องคิด ก่อนเปิดร้านกาแฟ

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ ธนาคารกสิกรไทย

กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นยามเช้าชวนให้หลายคนหลงใหล ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ ตลาดร้านกาแฟในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 21,220 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคกาแฟในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5-6 รวมถึงปริมาณเมล็ดกาแฟชนิดที่ยังไม่ได้คั่วที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 93 สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณการบริโภคกาแฟของชาวไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงส่งผลให้ธุรกิจร้านกาแฟขยายตัวตามความนิยมบริโภคกาแฟของไทยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้และจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย เราจึงได้เห็นแผนการเพิ่มจำนวนสาขาร้านกาแฟจากแบรนด์แฟรนไชส์ต่าง ๆ เฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี ถึงแม้ว่าธุรกิจร้านกาแฟจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านกาแฟประเภทแฟรนไชส์และไม่ใช่แฟรนไชส์ แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งผู้ประกอบการควรวางแผนวิเคราะห์ให้ดีก่อนจะทำธุรกิจนี้ ได้แก่

1.ต้องมีเงินลงทุนล่วงหน้าสูง ซึ่งเงินลงทุนเหล่านี้จำเป็นต้องนำไปใช้ในสินทรัพย์ถาวร เช่น ค่าก่อสร้างร้าน ค่าตกแต่งสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ และหากซื้อแฟรนไชส์จะต้องมีค่าแฟรนไชส์ด้วย

2.เป็นธุรกิจที่มีจุดคุ้มทุนสูง ธุรกิจร้านกาแฟมีสัดส่วนต้นทุนคงที่ที่อาจสูงถึงร้อยละ 60 ของต้นทุนรวม จึงส่งผลให้จุดคุ้มทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งต้นทุนคงที่ที่สำคัญได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าโฆษณาและทำการตลาดต่าง ๆ

3.ระยะเวลาการคืนทุนที่ค่อนข้างนาน เพราะเงินลงทุนล่วงหน้าและสัดส่วนต้นทุนคงที่สูง จึงทำให้กำไรสุทธิที่ได้ไม่สูงนักในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงระยะเวลาในการคืนทุน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าอาจมีระยะเวลาสูงถึง 60 เดือน หรือ 5 ปี

4.การแข่งขันสูง เนื่องจากใคร ๆ ก็เปิดร้านกาแฟได้ ทำให้มีผู้ประกอบการไม่น้อยสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ ทั้งยังมีการกระจุกตัวกันอยู่ในบางพื้นที่ ประกอบกับการรุกทำตลาดของร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มจำนวนมุมกาแฟภายในสาขา รวมถึงกาแฟประเภทแคปซูลที่เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ delivery ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ้านหรือออฟฟิศ ทำให้เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟต้องเผชิญการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5.พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องรู้ว่าใครคือลูกค้าเป้าหมายของตัวเอง เพราะผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมการซื้อไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มพนักงานประจำจะซื้อในช่วงก่อนเข้างานและพักเที่ยง ทำให้ช่วงเวลาที่มียอดขายสูงจะเริ่มตั้งแต่ 07.30-09.00 น. และช่วงพักเที่ยงระหว่าง 11.30-13.00 น. โดยมีระยะเวลารวมประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ประกอบกับข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาที่ต้องใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การรับออร์เดอร์ไปจนถึงส่งมอบกาแฟที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.20 นาที ทำให้ผู้ประกอบการอาจเสียโอกาสในการขายหากไม่สามารถบริหารจัดการแรงงานในช่วงเวลาเร่งด่วนได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟควรจะวิเคราะห์และทำความเข้าใจถึงกลยุทธ์ในการจัดการด้านต่าง ๆ ของธุรกิจร้านกาแฟ เช่น การจัดการเงินลงทุน การบริหารต้นทุน การเพิ่มรายได้ด้วยการขายสินค้าอื่น ๆ ที่มีกำไรสูง มีการจัดการด้านธุรกิจที่ดี มีการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในสินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ และวางแผนการจัดการแรงงานในช่วงเวลาเร่งด่วน จะเห็นว่าถึงจะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่เกินความสามารถของผู้ประกอบการที่เตรียมตัวมาอย่างดีครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!