กฎหมายภาษีใหม่เข้าคิวบังคับใช้ บีบธุรกิจเร่งจัดระเบียบหลังบ้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร
จับตาปี 2562 กม.ภาษีใหม่เข้าคิวบังคับใช้เพียบ ไล่ตั้งแต่ กม. “ป้องถ่ายโอนกำไร-อีเพย์เมนต์” บีบธุรกิจใหญ่-เล็ก ต้องเร่งรื้อระบบบัญชีหลังบ้านให้โปร่งใส ทั้งภาษีที่ดินต้นปี”63 และ กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เขย่าทุกวงการต้องทำระบบ “เก็บ-ใช้-เปิดเผย” ข้อมูลส่วนบุคคลประเดิม 2 กฎหมายภาษีใหม่

กฎหมายภาษีใหม่ : นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 กรมสรรพากรมีกฎหมายใหม่ที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมการบังคับใช้ หลัก ๆ 2 ฉบับ คือ

1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ภาษีอีเพย์เมนต์) ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา

และ 2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 หรือมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน พ.ศ. 2561 (Transfer Pricing) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบบัญชีปี 2562 เป็นต้นไป โดยจะมีผลต่อกลุ่มบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเครือให้กรมสรรพากร พร้อมแบบแสดงรายการชำระภาษีในเดือน พ.ค. 2563

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในส่วนภาษี Transfer Pricing บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาท จะต้องจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “Disclosure Form” แล้วยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี รวมทั้งเอกสารข้อมูลการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ ซึ่งทางกรมสรรพากรสามารถเรียกขอย้อนหลังได้ 5 ปี และต้องนำส่งภายใน 60 วัน สำหรับปีแรกให้รายงานภายใน 180 วัน หากบริษัทที่เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

 

ภาษีอีเพย์เมนต์เขย่าทุกวงการ 

นายปิ่นสายกล่าวว่า ส่วนกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ เป็นการปรับปรุงข้อกฎหมายตามประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการหักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ นำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรม 1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง 2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลธุรกรรมปี 2562 และนำส่งให้กรมสรรพากรต้นปี 2563

โฆษกกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า ส่วนร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ข้ามชาตินั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ดี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีนโยบายให้ผลักดันต่อไป แต่จะทันเข้า สนช.หรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับสถานการณ์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า เป้าหมายของกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ คือ ต้องการทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายอยู่บนฐานภาษีเดียวกัน เพราะประเทศไทยมีคนเลี่ยงภาษีจำนวนมาก โดยเฉพาะการค้าขายที่อยู่บนออนไลน์ หากไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับร้านค้าทั่วไป ประเทศก็จะเดินไปข้างหน้าได้ลำบาก ไม่ได้มีกฎหมายไว้เพื่อดักอีคอมเมิร์ซ แต่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันคนที่ทำอะไรผิดกฎหมาย

รื้อพอร์ตรับ กม.ภาษีที่ดินใหม่

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่าน สนช.ไปแล้ว โดยจะมีผลกับการจัดเก็บภาษีจริง วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคธุรกิจคงต้องสำรวจทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตัวเองไว้ เพื่อเตรียมรับการประเมินภาษีที่ดินใหม่ เพราะเมื่อกฎหมายบังคับใช้ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็จะเริ่มเข้าไปสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกแปลง

แหล่งข่าวผู้บริหารนักพัฒนาที่ดินสำหรับค้าปลีกกล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิวตี้ มอลล์ ส่วนใหญ่จะมีการซื้อที่ดินเก็บตุนไว้ล่วงหน้าสำหรับการลงทุนในอนาคตอยู่แล้ว แปลงไหนที่ลงทุนไปแล้วและเปิดให้บริการแล้วจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของภาระต้นทุนมากนัก แต่ที่เป็นความท้าทายและกระทบคือ ที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ ตอนนี้ถ้าสังเกตจะเห็นภาพการลงทุนในที่ดินของแลนด์แบงก์รายใหญ่ ๆ ที่เอาที่ดินออกมาให้เช่าหรือทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อไม่ต้องเจอมาตรการภาษี และรอเวลาการลงทุนในอนาคต

รับมือ “กม.ข้อมูลส่วนบุคคล” 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า มี 5 ร่างกฎหมายในความรับผิดชอบของดีอี ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2562 ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เพิ่มหมวดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล, ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย, ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ คือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหลักการคือ กำหนดวิธีการเก็บ-ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน เพื่อคุ้มครองข้อมูลของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด โดยจะแยกกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องออกเป็น เจ้าของข้อมูล ผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปประมวลผล ซึ่งตามกฎหมายจะมีการกำหนดวิธีปฏิบัติ แนวทางการกำกับดูแลที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม

แหล่งข่าวระดับสูงภายในกระทรวงดีอีเปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ปัจจุบันมีการไหลเวียนของข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการทุกระดับไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี หรือองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงหน่วยงานรัฐ จะต้องมีระบบ “เก็บ-ใช้-เปิดเผย” ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

บี้ธุรกิจทำบัญชีถูกต้อง

แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจระบุว่า จากที่มีกฎหมายภาษีใหม่ออกมาเตรียมบังคับใช้อีกหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายดิจิทัล ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่ระดับชั้นที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมระบบงานหลังบ้านต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับการบังคับใช้กฎหมาย

ขณะที่นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายภาษีให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องเตรียมรับมือ โดยทำระบบบัญชีให้ถูกต้องก่อนที่จะถูกเข้ามาตรวจสอบ อย่างเรื่องกฎหมาย Transfer Pricing เป็นการป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทในเครือเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวจัดทำระบบบัญชีต่าง ๆ ให้สอดรับกับกฎหมาย คงฝืนไม่ได้ และถ้าปรับตัวตั้งแต่วันนี้ยังมีเวลา

รวมทั้งกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะให้แก่กรมสรรพากรนั้น สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาที่มีธุรกรรมค่อนข้างมาก ก็ควรหันไปทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล โดยจัดตั้งบริษัทขึ้นมา ไม่อย่างนั้นถ้าข้อมูลทางการเงินวิ่งไปถึงกรมสรรพากร ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจดทะเบียน VAT เพราะถ้าไม่จดก็มีโทษอาญาด้วย

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!