SMEBankหนุนรายย่อย 6แสนรายลุยอีคอมเมิร์ซ เติมทุน-จูงใจเข้าระบบ

เอสเอ็มอีแบงก์ประกาศปั้นเอสเอ็มอี 6 แสนราย สู่ถนน “อีคอมเมิร์ซ” พร้อมยื่นมือช่วยรายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังให้ลุกยืนได้ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 5 หมื่นล้านเฟ้นมาตรการสนับสนุนทั้งเติมความรู้คู่ทุน-จูงใจเข้าระบบนิติบุคคล ลงทุนคอร์แบงกิ้ง-ไอทีใหม่กว่า 1 พันล้าน

 

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนายย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้ตั้งเป้าจะขยายสินเชื่อโต 50,000 ล้านบาท และได้รับนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าไปสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าสู่การค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซให้ได้ 600,000 ราย ในระยะ 1 ปีนี้ และนอกจากกลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็กแล้วยังมีธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และแบงก์ต้องเข้าไปช่วยให้ลุกขึ้นได้ และกลับมาดำเนินธุรกิจได้ต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายจะผลักดันให้เอสเอ็มอีรายเล็กเข้าสู่ถนนดิจิทัล ด้วยการเข้าไปให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนความคิดใหม่ เกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์ที่มีความแตกต่างจากการค้าขายผ่านหน้าร้านเหมือนที่ผ่านมา การให้ความรู้เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างมาตรฐานสินค้า บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ซึ่งจะมีแพลตฟอร์มมารองรับกระบวนการเหล่านี้

จูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบ

นายมงคลระบุว่า เร็ว ๆ นี้รัฐบาลจะมีแพ็กเกจมาตรการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าระบบได้ง่ายขึ้น โดยทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล ซึ่งจะเปรียบเทียบให้เห็นต้นทุนที่ถูกกว่าการทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา ปัจจุบันประเทศไทยมีการจดทะเบียนนิติบุคคลเพียงราว 5 แสนราย หรือราว 10% ของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 5 ล้านราย โดยธนาคารตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนลูกค้านิติบุคคลในพอร์ตโฟลิโอให้เป็น 70% หลังจบสิ้นปี 2562 จากปัจจุบันยังอยู่ที่ 40% ซึ่งธนาคารมีมาตรการจูงใจชัดเจน เช่น นิติบุคคลกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยแค่ 1% ส่วนบุคคลธรรมดาคิดดอกเบี้ย 5% เป็นต้น

“ถ้าเป็นเอสเอ็มอีรายกลางที่มียอดขายมากกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป เขากำลังก้าวไป 4.0 ได้แล้ว แต่รายเล็ก ๆ ยังไปไม่ได้ อยู่แค่ 1.0-2.0 เท่านั้น เราจึงต้องการจะยกระดับธุรกิจกลุ่มนี้ให้ขายของได้มากขึ้น และเข้าสู่ระบบโดยต้องนำ 600,000 รายที่ตั้งเป้าหมายไว้มาปักหมุดธุรกิจติดดาวให้ได้ ซึ่งหัวใจสำคัญของปีนี้เราใช้แนวทางที่เรียกว่า ฉันรัก เอสเอ็มอี ดี แบงก์ และฮัก แฮงแฮง ดูแลด้วยใจ”

นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งสนับสนุนสินเชื่อแก่เอสเอ็มอีรายเล็กในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย ซึ่งปัจจุบันยังมีในพอร์ตฯไม่มาก ปีนี้คาดว่าการให้สินเชื่อเฉลี่ยต่อรายจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนบาท ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 1.7 ล้านบาท/ราย

ลงทุนคอร์แบงกิ้ง-ไอทีพันล้าน

นายมงคลกล่าวว่า ในแง่ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี ธนาคารได้มีการดำเนินการ 3-4 เรื่อง ได้แก่ ล่าสุดคณะกรรมการธนาคารเพิ่งอนุมัติให้จัดซื้อระบบคอร์แบงกิ้งใหม่วงเงิน 600 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะพัฒนาระบบไอทีที่เรียกว่า “SME D System” อีก 400 ล้านบาท รวมเป็น 1,000 ล้านบาท และเพิ่มรถม้าเติมทุน (โมบายยูนิต) อีก 400 คัน เป็น 1,000 คันในปีนี้ นอกจากนี้ บอร์ดยังได้อนุมัติให้ขออนุมัติจากกระทรวงการคลังเพิ่มทุนอีก 8,000 ล้านบาท จาก 15,000 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยจะทยอยเพิ่มทุนใน 2 ปี โดยปีนี้ 4,000 ล้านบาท และปีหน้าอีก 4,000 ล้านบาท รวมทั้งมีแผนขายหนี้ NPL เก่าก่อนปี 2558 อีกราว 10,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกนี้ จากที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 13,000 ล้านบาท

“ตอนนี้ NPL เราไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และ NPL เกิดใหม่ตั้งแต่ปี 2558 มาตอนนี้เหลือ 3.55% แต่ถ้ารวมของเก่าก็จะเป็น 16.55% หากขายไป 10,000 ล้านบาท NPL ก็จะต่ำกว่า 10% เหลือเลขหลักเดียว หาก NPL ลดลง 10,000 ล้านบาท ธนาคารก็จะปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 20,000 ล้านบาท” นายมงคลกล่าว

นายมงคลกล่าวอีกว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มีมติเห็นชอบแผนการออกหุ้นกู้ของธนาคารจำนวน 21,000 ล้านบาท อายุ 5 ปีในปีนี้ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเพื่อให้แบงก์นำมาปล่อยกู้ เนื่องจาก ธพว.รับแต่เงินฝากของหน่วยงานซึ่งเป็นระยะสั้น แต่มาปล่อยกู้ระยะยาว จึงไม่สอดคล้องกัน โดยปีที่ผ่านมาก็มีการออกหุ้นกู้ไป 9,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน ซึ่งรอบนี้มีการค้ำประกันจะทำให้ระดมทุนได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราว 0.25-0.40%

พร้อมกันนี้ นายมงคลยังย้ำด้วยว่า ปีนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กที่มียอดขายไม่เกิน 2 ล้านบาท/ปี และมีคนงานไม่เกิน 5 คน รายใดที่ไม่ปรับตัวไปสู่ดิจิทัล และไม่ยอมเข้าระบบให้ถูกต้อง น่าจะทำธุรกิจต่อไปได้ยากขึ้น เนื่องจากทิศทางขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการแข่งขันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเข้มข้นขึ้น

“ธุรกิจกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงถ้าเราไม่ทำ 3 เรื่องให้คนกลุ่มนี้ คือ การทำให้รู้ การสร้างอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และปรับทัศนคติให้เข้าใจว่าการเข้าระบบมีต้นทุนที่ถูกกว่าไม่เข้าระบบ ปีนี้ถ้าใครไม่ปรับตัวจะเห็นผลกระทบทันที คือ เป็นเอ็นพีแอลแน่นอน”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!