รัฐตั้งทีมเกาะติดเบิกจ่ายงบปี’62 ไล่บี้ทุกส่วนราชการหวังยอดเข้าเป้า 100%

ผู้อำนวยการสำนักงบฯตั้งทีมเกาะติดทุกส่วนราชการบี้เบิกจ่ายงบประมาณปี’62 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ตั้งเป้าดันยอดเบิกจ่ายให้ได้ใกล้เคียง 100% พร้อมผ่อนปรนเหตุสุดวิสัยกรณีภาคใต้เผชิญพายุ “ปาบึก” ส่อขยายเวลาก่อหนี้ให้ 3 เดือน ขณะที่บัญชีกลางรายงานผลเบิกจ่ายไตรมาสแรกงบฯลงทุนยังเบิกได้แค่ 12%

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 2561) ของปีงบประมาณ 2562 ในภาพรวมถือว่าเบิกจ่ายได้ดี แต่ยังมีในส่วนการเบิกจ่ายงบฯลงทุนที่ต่ำเป้าหมายไป เนื่องจากมีการดึงงบฯส่วนหนึ่งกันไว้รองรับการจัดทำแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หลังจากนี้การเบิกจ่ายงบฯลงทุนน่าจะดีขึ้น โดยปีนี้เป้าหมายการเบิกจ่ายต้องทำให้ได้ 100% และจะไม่มีการให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีสำหรับโครงการที่ก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน

“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเคร่งครัดกับส่วนราชการในการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาส โดยได้จัดทีมไปติดตามและมีระบบ BB EvMIS ที่ใช้ติดตามดูว่า การเบิกจ่ายงบฯลงทุนถึงขั้นตอนไหน ถ้าโครงการใดเริ่มล้าหลังก็จะเข้าไปจี้ทันทีว่าต้องเร่งแล้ว เพราะจริง ๆ การประกาศทีโออาร์ต้องทำในไตรมาสแรก ไตรมาส 2 ก็ต้องเปิดซองและเซ็นสัญญาได้แล้ว จากนั้นไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ก็เริ่มใช้จ่าย” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2562 จะถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดในการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ด้วย โดยทางสำนักงบประมาณจะรายงานผลการเบิกจ่ายต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกไตรมาส ซึ่งเชื่อว่ามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ที่ตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท ทำได้ใกล้เคียง 100% อันจะส่งผลดีต่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม

“ปีนี้ตั้งเป้าเบิกจ่าย 100% แต่กรณีที่มีเหตุอย่างภาคใต้ที่ประสบภัยพิบัติ เราก็จะเปิดโอกาสให้ชี้แจง ก็อาจจะขยายเวลาก่อหนี้ให้ 3 เดือน แต่ภาพรวมปีนี้ก็มั่นใจว่าน่าจะทำได้ใกล้เคียง 100%” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าว

ขณะที่ข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมได้ 587,195 ล้านบาท คิดเป็น 27.21% โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 31.66% หรือจำนวน 522,022 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 12.80% หรือจำนวน 65,173 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานระดับกระทรวงที่เบิกจ่ายได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งปี หรือต่ำกว่า 25% ได้แก่ หน่วยงานของรัฐสภา เบิกจ่ายได้ 9.07% กระทรวงคมนาคม เบิกจ่ายได้ 12.45% กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบิกจ่ายได้ 14.08% กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายได้ 15.90% กระทรวงพลังงาน เบิกจ่ายได้ 16.54% กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เบิกจ่ายได้ 17.11%

ขณะที่กระทรวงกลาโหม เบิกจ่ายได้ 17.96% กระทรวงวัฒนธรรม เบิกจ่ายได้ 18.36% กระทรวงยุติธรรม เบิกจ่ายได้ 20.07% ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี เบิกจ่ายได้ 21.47% กระทรวงสาธารณสุข เบิกจ่ายได้ 22.80% กระทรวงอุตสาหกรรม เบิกจ่ายได้ 23.16% และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เบิกจ่ายได้ 24.91%

ส่วนรายจ่ายลงทุน พบว่ามีหน่วยงานระดับกระทรวงที่เบิกจ่ายได้มากกว่า 25% เพียงแค่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ เบิกจ่ายได้ 25.24% กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบิกจ่ายได้ 26.10% กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เบิกจ่ายได้ 33.84% กระทรวงการคลัง เบิกจ่ายได้ 47.94% และหน่วยงานอิสระของรัฐ เบิกจ่ายได้ 60.44% ที่เหลือยังเบิกจ่ายได้ในระดับต่ำ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!