ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาผลลงมติร่างข้อตกลง Brexit

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพท รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/1) ที่ระดับ 31.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/1) ที่ระดับ 31.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนเผยมียอดเกินดุลการค้าสหรัฐในปี 2561 เพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และระดับ 3.233 แสนล้านดอลลาร์ แม้ว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสองประเทศจะทวีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้ยอดเกินดุลการค้าเป็นข้ออ้างในการกดดันจีนเพิ่มเติม เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า และดำเนินการกับสิ่งที่สหรัฐมองว่าเป็นการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมกับจีน เช่น การกล่าวหาในเรื่องของการขโมยทรัพม์สินทางปัญญา สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 น่าจะขยายตัวได้ 4% แม้ปัจจัยภายนอกเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ธปท.มองว่าการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทางด้าน รมว.คลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 4% เช่นกัน โดยได้แรงหนุนจากการเร่งลงทุนภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.90-31.98 บาท/ดอลลาร์สหรับ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.94/32.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1468/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/1) ที่ระดับ 1.1522/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ออกมาเตือนว่า อังกฤษอาจเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ หากรัฐสภาไม่โหวตสนับสนุนข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่นางเมย์ทำไว้กับผู้นำสหภาพยุโรป (EU) โดยในวันที่ 15 ม.ค. นี้อาจเป็นวันที่รัฐสภาอังกฤษทำการลงมติต่อร่างข้อตกลงดังกล่าว ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นางเมย์จะเป็นฝ่ายแพ้ นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่าธุรกิจเกือบ 2 ใน 3 ของเยอรมนีต้องการให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะถดถอยก็ตาม ตลาดคาดว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีจะเกิดขึ้นในปี 2020 หลังการเปิดเผยข้อมูลภาคอุตสาหกรรมที่น่าผิดหวังจากเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในยูโรโซนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิของยูโรโซนอาจจะกำลังชะลอตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1440-1.1481 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1472/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (14/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.41/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/1) ที่ระดับ 108.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดเงินญี่ปุ่นหยุดทำการ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.05-108.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ธ.ค. (15/1) ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ม.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (15/1) ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือน ธ.ค. (16/1) รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (17/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (17/1) การผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ธ.ค. (18/1) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ม.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (18/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.4/-3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ