เงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาดูการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (23/8) ที่ระดับ 33.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สู่ระดับ 571,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมในปีที่ผ่านมา หลังจากพุ่งแตะระดับ 630,000 ยูนิต ในเดือนมิถุนายน และเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 8.9% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งยอดขายบ้านใหม่ลดลงแทบทุกภูมิภาค ยกเว้นเขตมิดเวสต์ที่ปรับตัวขึ้นทั้งนี้ยอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาบ้าน หลังเกิดภาวะขาดแคลนที่ดิน และแรงงาน รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้่างที่ดีดตัวขึ้น นอกจากนี้เงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากประเด็นความขัดแย้งในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้เปิดเผยที่รัฐแอริโซน่าว่า เขาอาจจะระงับข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หากประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เขาตั้งไว้ได้ ผนวกกับฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุว่า หากสภาคองเกรสสหรัฐประสบความล้มเหลวในการปรับเพิ่มเพดาหนี้ของสหรัฐในเวลาที่เหมาะสม สิ่งนี้ก็จะทำให้ทางบริษัทปรับทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงจากระดับ AAA ในขณะนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.33-33.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (24/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1804/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (23/8) ที่ระดับ 1.1784/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลการสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ -1.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนจะลดลงสู่ระดับ -1.8 ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลินเดา ประเทศเยอรมนี ในวันี้ตามเวลาไทย โดยกล่าวว่า นโยบายการเงินที่ดีต้องเป็นนโยบายที่จัดเตรียมขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมระบุว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) ที่ทางธนาคารได้นำมาใช้ นายดรากียังกล่าวด้วยว่า การมีความเชื่อมั่นต่อตลาดอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผ่อนคลายกฎระเบียบ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1785-1.1819 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1788/1.1790 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (24/8) เปิดตลาดที่ระดับ 109.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (23/8) ที่ระดับ 109.40/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น หลังจากเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.85-109.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.37/109.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (24/8) ยอดขายบ้านมือสอง (24/8) การแถลงการณ์ของประธานเฟดเมืองแจ็กสัน โฮลล์ (25/8) และยอดสินค้าคงคลัง (25/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.5/-0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.2/+0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ