“AECS” ชี้ลงทุนหุ้นนิคมฯ รับอานิสงส์อีอีซี-หุ้นไฟฟ้าโอกาสโตสูง

บล.เออีซี แนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม AMATA-WHA-EASTW เหตุรับอานิสงส์ EEC พร้อมแนะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง BGRIM-BPP-GUNKUL เตือนนักลงทุนต้องจับตาปัจจัยต่างประเทศฉุดภาพรวมการลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน โดยให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มสาธารณูปโภค เนื่องจากได้รับอานิสงส์บวกทั้งราคาขาย และยอดขาย โดยในพื้นที่เขต EEC อาทิ AMATA จากปัจจุบันมีพื้นที่รอการขาย 2,777 ไร่ และพื้นที่รอการพัฒนาอีกราว 8,172 ไร่ ขณะที่หุ้นที่น่าจับตาอีกตัวคือ WHA โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2562 WHA ตั้งเป้าขายที่ดินในนิคมไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ และคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ เพิ่มจากคลังสินค้าอีกกว่า 1 แสนตร.ม.

หุ้น EASTW จากการประเมินว่าในปี 2562 จะเห็นการฟื้นตัวของกำไร ซึ่งสอดคล้องรับไปกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในเขต EEC ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำดิบในนิคมฯ เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในระยะยาว EASTW ยังมีแผนเพิ่มสัดส่วน การจำหน่ายน้ำควบคุมคุณภาพ (มาร์จิ้นสูง) มากขึ้นโดยล่าสุดเซ็นสัญญาให้บริการแก่ GULF (รับรู้รายได้ปี 2563) และ AMATA (รับรู้รายได้ปี 2564)

นอกจากนี้ ทางฝ่ายวิจัยยังแนะนำลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเน้นหุ้นประเภทที่มีลักษณะธุรกิจที่มีความสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเราเลือกหุ้นโรงไฟฟ้า ที่ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องได้อีก 4-5 ปี ข้างหน้า ได้แก่ BGRIM โดยมองว่าปี 2562 มีแผน COD โรงไฟฟ้า เพิ่มอีก 682 MW ทำให้มีกำลังผลิตรวม 2,773 MW ณ สิ้นปี 2562 และมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2565 ที่ 3,130 MW ขณะที่หุ้น BPP เราประเมินว่าปี 2562 BPP มีแผน COD โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 312 MW ทำให้มีกำลังผลิตรวม 2.48 GW ณ สิ้นปี 62 และมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2568 ที่ 4.3 GW และ GUNKUL มองว่าปี 2562 มีแผน COD โรงไฟฟ้าโซลาร์อีก 105 MW ทำให้มีกำลังผลิตรวม 401 MW ณ สิ้นปี 2562 และมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2565 ที่ 543 MW

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นในต่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปิดหน่วยงานสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อที่สุด (24 วัน) หลังทรัมป์และวุฒิสภายังไม่มีทีท่าจะสามารถตกลงร่างงบประมาณของสหรัฐฯ ได้ จากความขัดแย้งต่อประเด็นงบกำแพงกั้นเขตเม็กซิโก โดยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าทุกๆ 2 สัปดาห์ที่อยู่ในภาวะปิดหน่วยงานสหรัฐฯ จะทำให้ GDP ในช่วงไตรมาส 1/2561 ลดลง 0.1%

ขณะเดียวกันกรณีที่ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมเปิดลงมติร่างข้อตกลง BREXIT ฉบับล่าสุดที่ผ่านการประชุมร่วมกับ EU ซึ่งมีสัญญาณไม่ดีนัก เนื่องมีความขัดแย้งภายในฐานเสียงของพรรครัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายคาดร่างกฏหมายดังกล่าวจะได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะผ่านร่างกฏหมายดังกล่าวไปได้ (320 เสียง จาก 639 เสียง) ส่งผลให้อังกฤษมีแนวโน้มที่จะต้องออกจากกลุ่ม EU โดยไร้ข้อตกลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ของทั้ง EU และอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดในช่วงกลาง-ยาว ยังให้น้ำหนักส่วนใหญ่กับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มมีบรรยากาศการเจรจาที่ดีขึ้น และคาดจะเห็นความคืบหน้ามากขึ้นในการประชุมระหว่างผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 30-31 ม.ค.นี้ โดยหากเป็นไปด้วยดี คาดทำให้นักลงทุนกลับมามองบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก บวกกับปัจจัยหนุนจากการที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนที่จะชะลอแผนขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562