สมาคมประกันนัดกลางม.ค.ถกประกันสุขภาพ-คุมค่ารักษา

บอร์ดสมาคมประกันชีวิตไทย ตั้งคณะทำงานดูแลควบคุมเรื่องประกันสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล ดัน “ตัน ฮาค เลห์” นั่งประธาน พร้อมนัดประชุมรอบแรกกลาง ม.ค. 62 นี้ คาดได้ข้อสรุปเบื้องต้น แนะบางโปรดักต์ออกแบบคุ้มครองร่วมจ่าย หนุนเบี้ยถูกลง ด้านผู้แทนสมาคมชงแนวทางออก เปิดทางให้หมอออกใบสั่งยา “ซื้อ” นอก รพ. หนุนค่ายาถูกลง ชูโมเดลสิงคโปร์-มาเลเซีย

นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) สมาคมได้อนุมัติตั้งคณะทำงานภายในขึ้นมาดูแลเรื่องประกันสุขภาพที่ครอบคลุมแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล โดยมีนายตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย นั่งเป็นประธานในการพิจารณา ซึ่งจะนัดหารือรอบแรกช่วงกลางเดือน ม.ค. 62 นี้ โดยเบื้องต้นจะมีการทบทวนระบบประกันสุขภาพและโปรดักต์ประกันสุขภาพ ซึ่งต้องนำข้อมูลของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมาประกอบการพิจารณา เพื่อวางกรอบแนวทางการทำงาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเพราะยังไม่ผ่านการประชุมรอบแรก แต่คาดว่าหลังผ่านการประชุมจะมีความชัดเจนออกมา

แหล่งข่าวสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ปัญหาคือค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ภาคธุรกิจประกันภัยจำเป็นต้องปรับตัว เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องไปเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพทุก ๆ ปี ซึ่งภาระส่วนนี้ก็จะตกไปอยู่กับผู้เอาประกัน ซึ่งจะส่งผลในอนาคตคนจะเข้าถึงประกันภัยได้น้อยลง ซึ่งประเด็นที่สมาคมกำลังพูดคุยกัน คือ บางโปรดักต์ที่ครอบจักรวาลอาจต้องออกแบบให้ง่าย ๆ และคุ้มครองแบบช่วยกันจ่าย (copayment) ซึ่งจะทำให้เบี้ยประกันถูกลงได้

“ถ้ามี copay ต่อไป ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่าย ซึ่งทำให้ต้องหมั่นดูแลตัวเองมากขึ้น เพื่อลดการเข้าออกโรงพยาบาล ก็จะเห็นลอสเรโช (อัตราความเสียหาย) ไม่สูงนัก เบี้ยก็จะถูกลงได้”

นอกจากนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศว่าจะกำหนดให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีมาตรการที่จะเห็นราคามีมาตรฐานชัดเจนขึ้น และน่าจะทำให้ประชาชนที่หนีไปใช้โรงพยาบาลรัฐอยู่นั้นจะเลือกกลับมาใช้โรงพยาบาลเอกชนกันต่อไป ก็จะช่วยลดหรือแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐได้บ้าง

“เมื่อรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะทำให้คนสนใจทำประกันมากขึ้น และยิ่งถ้าค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้สูงมากไปกว่าโรงพยาบาลรัฐ ในอนาคตก็จะเกิดผลดี เพราะบางคนที่มีความสามารถในการจ่ายก็ยินดีที่จะจ่ายเพื่อไปซื้อความสะดวกสบาย” แหล่งข่าวสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมาคมได้เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาล ที่จัดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทางสมาคมได้เสนอแนวทางออกเกี่ยวกับราคาค่ายาของโรงพยาบาลเอกชนที่สูง เช่น ประชาชนสามารถไปเลือกซื้อยาจากข้างนอกเองได้ เหมือนกับโมเดลในต่างประเทศที่คนไข้สามารถขอใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อนำไปซื้อยาโดยที่ไม่ต้องซื้อยาของโรงพยาบาล ซึ่งจะได้ราคาของยาที่ถูกกว่า

“แทนที่จะซื้อยานอก อาจจะซื้อยาองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกัน ราคาก็อาจถูกกว่าก็ได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถขอใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อยาข้างนอกเองได้โดยไม่มีข้อจำกัด” แหล่งข่าวกล่าว

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการของรัฐถือเป็นการควบคุมที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ก็อาจมีผลกระทบ ดังนั้น จะต้องมาพิจารณาว่าผลกระทบนั้นในแง่ภาคเอกชนสามารถที่จะปรับปรุงเพื่อให้เดินไปในแนวทางเดียวกันได้หรือไม่ เพราะแต่ละองค์กรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน

“ถ้าทุกคนมีความเห็นที่ตรงกัน อยากที่จะทำด้วยจุดประสงค์เดียวกัน มันก็ไม่น่ายาก” นางสาวพัชรากล่าว