สคร.ลุ้นแก้กฎหมายผ่าน สนช. หนุนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจไม่สะดุด

ประภาศ คงเอียด

สคร.ลุ้นร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับปรับปรุงใหม่ผ่าน สนช.เตรียมชง ครม. ยืนยันร่างอีกครั้งก่อนสิ้น ม.ค.นี้ หลังมีการตัดทิ้งเรื่องการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ชี้หากกฎหมายผ่านจะเอื้อแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจของ คนร.ให้ไม่สะดุด ล่าสุด ยังเหลืออีก 5 รัฐวิสาหกิจยังฟื้นฟูไม่สำเร็จ

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาและกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจ อยู่ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ปรับปรุงร่างกฎหมายแล้วเสร็จ

โดยตัดสาระสำคัญเรื่องการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (โฮลดิ้งคอมปะนี) ออกไป โดย ทาง สนช.จะส่งเรื่องกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันอีกครั้ง ก่อนจะเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายในวาระ 2 วาระ 3 ต่อไป

“ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตั้งขึ้นมา โดยมีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับ แต่ถ้าร่างกฎหมายผ่าน ก็จะมีสถานะเป็น พ.ร.บ. ซึ่งจะทำให้งานของ คนร.มีความต่อเนื่อง อย่างแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาก็ต้องเดินตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลก็อาจจะถูกยกเลิก” นายประภาศกล่าว

นายประภาศกล่าวด้วยว่า หากกฎหมายยังไม่ผ่าน ทาง คนร.จะต้องมอบภารกิจตามแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจกลับไปให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า ภารกิจยังค้างคาอยู่ แต่หากกฎหมายผ่านออกมาบังคับใช้ ก็จะสามารถสานต่อภารกิจของ คนร.ได้อย่างต่อเนื่อง

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.พัฒนาและกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจกลับมาให้ ครม.ยืนยันให้ความเห็นชอบ ตามที่มีการปรับปรุงแก้ไขในไม่เกินสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ก่อนจะกลับไปเข้าวาระ 2 วาระ 3 ใน สนช.ต่อไป

“ถ้า ครม.เห็นชอบร่างตามที่มีปรับปรุง ก็จะกลับไป สนช.ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพราะส่วนที่แก้ไขก็มีแค่ตัดเรื่องการตั้งโฮลดิ้งออกไป ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ แนวทางการกำกับดูแลที่ดี skills matrix การให้ คนร.มีสถานะตามกฎหมายถาวร” นางปานทิพย์กล่าว

ขณะที่นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า คนร.ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง (แผนฟื้นฟู) โดยได้อนุมัติให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ ออกจากแผนฟื้นฟู เนื่องจากปัจจุบันฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่งแล้ว จากการที่ได้รับการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง เมื่อช่วงปลายปี 2561 นอกจากนี้ ในปี 2561 ผลประกอบการไอแบงก์ยังมีกำไรสุทธิกว่า 500 ล้านบาท และสามารถควบคุมด้านรายจ่ายได้ดี แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย

“คนร.เห็นว่า ไอแบงก์มีผลประกอบการที่ดีมีกำไรแล้ว และมีการปรับปรุงระบบการทำงาน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีต และสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคตของไอแบงก์ในอนาคตได้ จึงมีมติเห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากแผนฟื้นฟู และมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลไอแบงก์ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป” นางสาวปิยวรรณกล่าว

สำหรับแผนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับอัยการสูงสุดในเรื่องค่าแอ็กเซสชาร์จที่ยังเป็นคดีอยู่ แล้วกลับมารายงาน คนร.ครั้งต่อไป โดยการจัดตั้งบริษัทใหม่คาดว่าจะสามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน นับจาก ครม.เห็นชอบ

ส่วนกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับทราบแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่และจำหน่ายเครื่องบินเก่า ซึ่งทาง บมจ.การบินไทยจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ และเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมต่อไป

ฟากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่จะมีการจัดตั้งบริษัทลูกในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง และบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางกระทรวงคมนาคมจะนำเรื่องมาเสนอในการประชุม คนร.ครั้งถัดไป และสุดท้ายองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดหารถใหม่แล้ว 300 คัน ภายในเดือน มี.ค.นี้จะรับมอบอีก 189 คัน โดยคาดว่าจะจัดหารถใหม่ได้ครบ 3,000 คันภายในปี 2565 ขณะเดียวกันทาง คนร.ได้ให้ทาง ขสมก.และกระทรวงคมนาคม กลับไปทบทวนแผนการขึ้นค่าโดยสารเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!