สบน.ยันไทยไม่ได้ร่วมลงทุนจีน หลังถูกวิจารณ์กู้เงิน CEXIM

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยกรณีข้อวิจารณ์การกู้เงินจากจีนสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ว่าการดำเนินความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามกรอบความร่วมมือรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 ซึ่งใน FOC ทั้ง 2 ฝ่าย ได้เห็นชอบในหลักการว่า โดยแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าว จะมาจากหลายแหล่งประกอบด้วย งบประมาณของรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่น โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเงินกู้ของฝ่ายจีนจะต้องดีที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น

“ข้อกังวลที่ว่าไทยจะติดกับดักหนี้จีนนั้น ไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเองทั้งหมด และไม่ได้ร่วมลงทุนกับจีน ทั้งการดำเนินการในพื้นที่และการเป็นเจ้าของโครงการแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ได้มีการร่วมลงทุนกับฝ่ายจีน โดยฝ่ายจีนเป็นเพียงผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงแก่ไทยเท่านั้น”

นางจินดารัตน์กล่าวต่อว่า โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศ จำนวน 4,000 ล้านบาท และมีการเบิกเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อสร้างโรงสร้างพื้นฐานพื้นฐาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนที่มีรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ และยังไม่ได้มีการผูกพันสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน (CEXIM) หรือแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอื่น จึงคลายกังวลได้ว่า กระทรวงการคลังจะพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนที่เงื่อนไขและต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ ความคุ้มค่าในการลงทุนและปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ถึงขนาดสูญเสียความเป็นเจ้าของโครงการให้แก่ฝ่ายจีน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์โครงการและผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการแล้วโดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเส้นทางเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งได้พิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมในเชิงกว้างมากกว่าการคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามวันที่ 11 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 13,273.89 ล้านบาท และเงินกู้ 166,342.61 ล้านบาท ในส่วนเงินกู้จะใช้เงินกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ สำหรับว่าจ้างผู้ประกอบการไทยในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นบาน วงเงินงบประมาณ 127,784.23 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของวงเงินกู้ และจะใช้เงินกู้ต่างประเทศสำหรับรายการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศและใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาขบวนรถ งานวางรางและการฝึกอบรมบุคลากร วงเงินงบประมาณ 38,558.38 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเห็นควรให้เปิดกว้างสามารถจัดหาเงินกู้ได้ทั้งจากแหล่งเงินในประเทศและต่างประเทศสำหรับนำมาใช้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด