คลังปรับสูตร ‘แต๊ะเอียช่วยชาติ’ เปิดโอกาสลงทะเบียนสูงสุด 10 เลขที่บัญชี

กระทรวงการคลังคลังปรับสูตร ‘แต๊ะเอียช่วยชาติ’ เปิดโอกาสลงทะเบียน สูงสุด 10 เลขที่บัญชี หวังประชาชนมีอิสระใช้จ่ายมากขึ้น ย้ำไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการที่มุ่งเน้นกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทางกระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ลงทะเบียนสามารถเลือกธนาคารได้มากกว่า 1 แห่ง และในแต่ละธนาคารยังสามารถใช้จ่ายจากบัญชีธนาคารได้มากกว่า 1 เลขที่บัญชี จากเดิมที่สามารถลงทะเบียนได้เพียง 1 แห่งต่อ 1 เลขที่บัญชี โดยสามารถเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตหรือคิวอาร์โค้ด ได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ผู้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้สูงสุดไม่เกิน 10 เลขที่บัญชีต่อคน และสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว หากต้องการใช้เลขที่บัญชีธนาคารหลายเลขที่บัญชีธนาคารในการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการดังกล่าวสามารถลงทะเบียนแก้ไขเพื่อกำหนดเลขที่บัญชีธนาคารที่จะใช้ชำระเงินใหม่ได้ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนและอีเมล์ที่ได้ลงทะเบียนไว้

“เรามองว่ามาตรการนี้ไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการที่มุ่งเน้นกระตุ้นให้ประชาชนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนในมาตรการนี้ จำนวน 7,000 คน คาดว่าภายในวันที่ 31 ม.ค.2562 จะมีผู้ลงทะเบียนทั้งหมดราว 100,000 คน ที่ผ่านมาไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เนื่องจากทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการใช้บัตรเดบิตได้มากกว่า 1 เลขที่บัญชีผ่านมาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ผู้ลงทะเบียนมีอิสระในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บัญชีธนาคาร จำนวน 20 ล้านบัญชี ที่ผูกกับบัตรเดบิตมากกว่า 50 ล้านใบ ในระบบของธนาคาร รวมถึงมีผู้ประกอบการร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมแล้ว 65 ราย จำนวนสาขากว่า 15,000 แห่ง”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนและได้ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การชำระเงินผ่านบัตรเดบิตและคิวอาร์โค้ด เพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่รวมถึงสินค้าภาษีสรรพสามิต ทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย สุรา ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน นอกจากนี้การซื้อสินค้าและรับบริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.พ.นี้ กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale :POS) ที่สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้ โดยเป็นการแยกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการและจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 5% และรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน หรือเท่ากับการซื้อสินค้าและบริการ ประมาณ 21,400 บาท โดยจ่ายเงินชดเชยผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนภายในเดือน พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 17 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารไอซีบีซี ธนาคารออมสิน ธนาคารซิตี้แบงค์ ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) โดยประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 7-31 ม.ค. นี้

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!