ไตรมาส 1/62 ช่วงเวลาแห่งความคาดหวัง

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย วิจิตร อารยะพิศิษฐ, สรพล วีระเมธีกุล บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

ปีที่ผ่านมาภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างน่าผิดหวัง โดย SET index ปรับตัวลดลงราว 11% โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสงครามการค้าโลก (trade war) ที่ยืดเยื้อและเริ่มส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ในปีนี้เราคาดภาพรวมทิศทางการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงยังคงผันผวน แต่จะไม่ได้แย่เหมือนกับปีที่แล้ว โดยคาดตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (emerging narket : EM) มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนดังนี้

แนวโน้มดอกเบี้ยโลกไม่เร่งตัวขึ้นเร็วเกินไปนัก กดดันค่าเงิน dollar อ่อนค่า : สัญญาณภาพรวมเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐ, ยูโรโซน รวมถึงจีน เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ชะลอลง หลังภาวะสงครามการค้าโลกยังคงยืดเยื้อ ดังนั้น เราจึงคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังไม่เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปนัก โดยสำหรับธนาคารกลางสหรัฐ (fed) ปีนี้เราประเมินจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0% ต่อไป แม้ว่ามุมมองของ consensus จะคาดว่ามีโอกาสปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวคาดจะส่งผลให้ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงิน EM รวมถึงค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงสัญญาณการกลับมาของ fund flow ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ส่งจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในกลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นได้

dollar อ่อนค่า หนุนการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ : ภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่า ถือเป็นแรงส่งเพิ่มเติมต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ้างอิงการซื้อขายเป็นดอลลาร์ มีโอกาสค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาทองคำ และราคาน้ำมันดิบโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผลต่อภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนของไทยมาก เนื่องจากกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนของมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) ของ SET สูงราว 20% ดังนั้น การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกก็จะส่งผลเชิงบวกต่อการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเช่นเดียวกัน

สัญญาณเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป : คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่ดี ทั้งทางด้านการบริโภคที่ได้รับแรงหนุนจากการขับเคลื่อนจากภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่สำคัญ ก็ช่วยหนุนให้รายได้ภาคเกษตรเร่งตัวขึ้น ส่งผลบวกโดยตรงต่อการบริโภค ส่วนทางด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เราคาดยังคงขยายตัวได้ดี ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยประเมินวงเงินในช่วงปลายปี 2561 ถึงกลางปี 2562 มีมูลค่างานประมูลสูงถึง 9 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับ EEC โดยการผลักดันโครงการเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศปรับตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงปลายปีที่ผ่านมาพบว่า สัญญาณของนักท่องเที่ยวจีนหดตัวลง 5 เดือนติดต่อกัน แต่เราคาดจะเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองที่มาช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ความคาดหวังต่อการเกิดการเลือกตั้ง : การเลือกตั้งถือเป็นอีกประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่เราเชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในกรอบระยะเวลาเดิม (ภายใน มี.ค.-พ.ค. นี้) ดังนั้น หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง คาดจะมีโอกาสส่งจิตวิทยาเชิงบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และคาดอาจจะเป็นแรงหนุนให้กระแสเงินทุนมีโอกาสไหลกลับมาเพิ่มเติมได้ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ดี หากตลาดหุ้นมีแรงเก็งกำไรก่อนการเลือกตั้ง (election rally) แนะให้ระมัดระวังเพิ่มเติมช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งอาจมีแรง sell on fact เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็อาจกินระยะเวลาอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน

ดังนั้น จากประเด็นทั้งหมดดังกล่าว เราคาดภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 1 ยังมีความคาดหวังต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ท่ามกลาง valuation ของตลาดในปัจจุบันที่ไม่แพงเกินไปนัก ดังนั้น จึงมีโอกาสเห็นแรงเก็งกำไรขับเคลื่อนดัชนีแกว่งขึ้นได้ โดยกรอบ SET index ในช่วงไตรมาส 1/62 เราคาดว่าจะแกว่งในกรอบ 1,550-1,750 จุด แนะลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวที่รอการฟื้นตัว (หุ้น AOT) กลุ่มโรงไฟฟ้า (หุ้น EGCO) กลุ่มปันผลสูง (หุ้น RATCH, MAJOR) กลุ่มที่คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/61 ขยายตัวโดดเด่น (หุ้น PTTEP, SAWD, HMPRO, VGI, JMT)