ก.ล.ต.รับมือ”หมอเสริฐ”สู้คดี ดันมืออาชีพป้องธุรกิจ2แสนล้าน

กลต
แฟ้มภาพ

บอร์ดบีดีเอ็มเอส ดันลูกชายหมอเสริฐ พร้อมทีมมืออาชีพ “นฤมล น้อยอ่ำ-นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร” นั่งกุมบังเหียนอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ แทน “หมอเสริฐ” และลูกสาว ฟาก ก.ล.ต.เตรียมออกคำสั่งแบนนั่งเก้าอี้บริหารและกรรมการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 ปี มั่นใจข้อมูลหลักฐานชัด พร้อมต่อสู้คดีกับแชมป์มหาเศรษฐีหุ้นไทย วงในเผยหมอเสริฐไม่จ่ายค่าปรับสู้คดีเพื่อปกป้องอาณาจักร 2 แสนล้าน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีมาตรการลงโทษทางแพ่ง 1.นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 2.แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ และ 3.นางนฤมล ใจหนักแน่น เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เจ้าของสายการบิน บางกอกแอร์เวยส พร้อมเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 499.45 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สืบเนื่องจาก ก.ล.ต.ตรวจพบว่าระหว่างวันที่ 13 พ.ย. 2558 ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2559 บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันซื้อขายหุ้น BA อย่างต่อเนื่อง และจับคู่ซื้อขายหุ้น BA ระหว่างกันเองในลักษณะอำพรางการซื้อขาย จากกรณีดังกล่าวนายแพทย์ปราเสริฐและแพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ได้แจ้งลาออกจากทุกตำแหน่งบริหารและคณะกรรมการของ บมจ.การบินกรุงเทพ และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และระบุว่า พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป

 

ก.ล.ต.สั่งแบนสูงสุด 3 ปี

นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการด้านกฎหมาย ก.ล.ต. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีผู้กระทำความผิด 3 ราย ในคดีสร้างราคาหุ้น BA ไม่ยอมจ่ายค่าปรับภายใน 14 วันตามกฎหมายกำหนด และต้องการต่อสู้คดีนั้น ก.ล.ต.จะดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกเงินค่าปรับ ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งที่ผู้กระทำความผิดได้ทำลงไปนั้นมีความผิดจริงหรือไม่ และไม่ว่าผู้กระทำความผิดนั้นจะใช้วิธีการอย่างไร ก.ล.ต.เชื่อมั่นว่าได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรัดกุมที่สุดแล้ว

“กว่าที่เราจะออกประกาศคำสั่งคดีนี้ เราทำอย่างระมัดระวังที่สุดจนเรามั่นใจแล้ว และเชื่อว่าไม่มีจุดที่กระบวนการพิจารณาจะถูกย้อนกลับมาทำใหม่แน่นอน เพราะถ้าเราไปดำเนินการกับคนระดับนี้ และไปทำซี้ซั้ว เราก็คงถูกฟ้องกลับได้” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการชำระค่าปรับจะต้องเคลียร์ให้จบภายใน 2 อาทิตย์ แต่ทั้งนี้ผู้กระทำผิดสามารถขอขยายระยะเวลาออกไปได้ และนอกจากค่าปรับ ก.ล.ต.ยังมีคำสั่งห้ามผู้กระทำความผิด 3 ราย เป็นกรรมการ/ผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน ตามประกาศเรื่องการแบนสูงสุดไม่เกิน 3 ปี แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.หากผู้ถูกกล่าวหา ยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่งและลงนามในบันทึกยินยอม การแบนจะมีผลในวันรุ่งขึ้น 2.กรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมรับมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต.จะส่งเรื่องให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง และมีหนังสือแจ้งการแบนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบในวันเดียวกัน และการแบนจะมีผลในวันรุ่งขึ้น

11 คดีปั่นหุ้นในชั้นศาล

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับการดำเนินมาตรการทางแพ่ง ในคดีการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะยอมจ่ายค่าปรับ แต่กรณีของคดีที่เม็ดเงินปรับจำนวนสูงมาก ๆ หลายเคสก็ไม่ยอมจ่ายและขอต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งนี้ กฎหมายมาตรการลงโทษทางแพ่งของ ก.ล.ต.เพิ่งจะเริ่มบังคับใช้เมื่อต้นปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 16 คดีที่ผู้กระทำผิดยอมจ่ายค่าปรับ และมีอีก 11 คดี (ผู้กระทำความผิด 89 คน) ที่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับและเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล ขณะนี้ทุกคดียังไม่จบ ซึ่งกระบวนการพิจารณาของศาลแพ่งจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ปี และใช้เวลาในศาลอุทธรณ์อีกไม่เกิน 1 ปี

ทั้งนี้ คดีที่มีมูลค่าปรับแพ่งสูง ๆ อาทิ กรณีผู้กระทำผิด 25 ราย กรณีร่วมกันสร้างราคาหลักทรัพย์ NEWS MILL POLAR NBC NINE และ NINE-W1 ด้วยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวนกว่า 890 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้มีการดำเนินการไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อด้วย หรือคดีสร้างราคาหุ้น บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ (AJD) ปัจจุบันคือ บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) ก.ล.ต.ดำเนินคดีผู้กระทำความผิด 40 ราย เรียกค่าปรับรวม 1,727.38 ล้านบาท เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีคดีอยู่ที่อัยการเพื่อรอร่างคำฟ้องอีกหลายคดี ซึ่งต้องทำข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนถึงจะฟ้องได้ ส่วนการดำเนินคดีอาญา ก.ล.ต.จะดำเนินการหลังจากลงโทษทางแพ่งจบแล้ว และผู้กระทำผิดนั้นไม่ยอมจ่ายค่าปรับ แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยอมจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต.จะจบกระบวนการทั้งทางแพ่งและอาญา

หมอเสริฐสู้ป้องอาณาจักร

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนแสดงความเห็นว่า การแสดงเจตจำนงของหมอเสริฐ แชมป์มหาเศรษฐีหุ้นไทยปี 2561 ที่ประกาศพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพียงเพราะไม่ต้องการจ่ายค่าปรับทางแพ่ง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของอาณาจักรธุรกิจที่มีมูลค่าราว 2 แสนล้าน

โดยในส่วนของ BDMS ณ ไตรมาส 3/61 สินทรัพย์รวม 125,805 ล้านบาท รายได้ 60,570 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,841 ล้านบาท และ BA สินทรัพย์รวม 61,922.25 ล้านบาท รายได้ 21,663.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 663.83 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัล

กองทุนประเมินศักยภาพ

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการหารือร่วมกันภายในสมาคมเห็นตรงกันว่าที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษเป็นกรณีเฉพาะบุคคล และเมื่อทั้งนายแพทย์ปราเสริฐและแพทย์หญิงปรมาภรณ์ได้ออกจากการเป็นกรรมการของทั้ง BA และ BDMS แล้ว ดังนั้นในกรณีบุคคลจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนกรณีของบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ และการที่กรรมการทั้งสองลาออก ทำให้บริษัทไม่อยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงจากการมีกรรมการที่อาจมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ส่วนการประเมินศักยภาพของบริษัทอาจต้องประเมินกันใหม่อีกครั้ง

นักลงทุนสถาบันต่างชาติจับตา 

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันที่ถือหุ้น BA และ BDMS อยู่อาจมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นบ้าง โดยเฉพาะกองทุนประเภทบรรษัทภิบาล (CG) คาดว่ามีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นแน่นอน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นการกระทำส่วนบุคคลไม่เสียหายถึงบริษัท ดังนั้นผลกระทบต่อธุรกิจไม่มี แต่ผลกระทบต่อผู้บริหารว่าจะทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เรามองว่าในธุรกิจโรงพยาบาล BDMS ระยะยาวยังไปได้ดี เพียงแต่ระยะสั้น การควบคุมราคายายังมีผลกระทบทางจิตวิทยา เนื่องจากยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เราระมัดระวังอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ส่วนธุรกิจการบิน BA ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง รวมถึงผลประกอบการยังไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เป็นบริษัทที่เราเฝ้าตามดูแต่ยังไม่คิดว่าเป็นบริษัทที่น่าเข้าไปลงทุน” นายประภาสกล่าว

นางวชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า กรณีนี้จะแตกต่างจากกรณีสร้างราคาหลักทรัพย์ในอดีต เนื่องจากทั้งสองได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันในประเทศยังเข้าไปลงทุนไม่ได้เทขายเหมือนวันแรก แต่ในส่วนของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากเรื่องของบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ดันลูกหม้อ-ลูกชายหมอเสริฐคุม ฺBDMS

รายงานข่าวจาก บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่าน ได้มีมติแต่งตั้ง นางนฤมล น้อยอ่ำ เป็นกรรมการบริษัทแทนนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ พร้อมกับแต่งตั้ง นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ เป็นกรรมการบริษัทแทน แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ

นอกจากนี้ให้นางนฤมล น้อยอ่ำ นั่งตำแหน่ง รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และกรรมการบริหาร ในขณะที่นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ อีกด้วย

รวมถึงแก้ไขรายชื่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เป็น 1.นายจุลเดช ยศสุนทรากุล 2.นายชาตรี ดวงเนตร 3.นายประดิษฐ์ ทีฑกุล 4.นางนฤมล น้อยอ่ำ 5.นายศรีภพ สารสาส

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ให้ความเห็นว่า การที่ผู้บริหาร BDMS ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษฐานปั่นหุ้น ในทางปฏิบัติแล้วคิดว่าจะไม่มีผลต่อการดำเนินงาน หรือแผนการลงทุนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เนื่องจากเป็นความผิดของบุคคลจากที่บริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา นายแพทย์ปราเสริฐและผู้ที่ถูกกล่าวโทษดังกล่าวพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป

สำหรับในส่วนบริษัท BA จะมีการประชุมบอร์ดในวันที่ 24 ม.ค.นี้ อย่างไรก็ตามในแง่ผู้บริหารอาจมีปัญหาน้อยกว่า BDMS เพราะมีนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อยู่แล้ว

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม บอร์ดBDMSดันลูกหม้อ”นฤมล น้อยอ่ำ-นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร”นั่งบริหารแทน”หมอเสริฐ”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!