ธ.ก.ส. จัดงาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร โชว์โมเดลความสำเร็จของเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการด้านเกษตร เพื่อสร้างหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง
วันที่ 28 มกราคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในงาน“สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ในโอกาสครบรอบ 52 ปี ธ.ก.ส. โดยมีผู้แทนเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเกษตรจากทั่วประเทศ พร้อมด้วย นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้บริหารส่วนราชการ เอกชนและพนักงานให้การต้อนรับ โดยภายในงานได้จัดบูธนิทรรศการแสดงผลงานด้านการปฏิรูป ทั้งการบริหารจัดการหนี้ โมเดลการปรับ เปลี่ยน พัฒนา เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรกรรม และช่องทางการตลาดยุคใหม่ ณ อิมแพค ฮอลล์ 7 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า เนื่องจากรอบปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการลดภาระหนี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เกษตรกร
3.81 ล้านราย ได้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 และขยายเวลาชำระต้นเงิน 3 ปี ทำให้เกษตรกรผ่อนคลายปัญหาหนี้สินและมีกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตพืชตามความต้องการของตลาด จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กำหนดการจัดงาน “52 ปี ธ.ก.ส. สานพลัง ปฏิรูปภาคเกษตรไทย” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคเกษตรไทย ในปี 2562 โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ในการพัฒนาภาคการเกษตรใน 3 ด้าน คือ ปรับ การเกษตรแบบดั้งเดิมมาใช้เทคโนโลยีและวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เช่น การผสมปุ๋ยใช้เอง การเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี Agri-Tech เช่น การปลูกมันสำปะหลังระบบน้ำหยด การใช้เครื่องจักรในการทำไร่อ้อย ใช้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น
ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแรงงานในภาคการเกษตร เปลี่ยน การผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ โดยปลูกพืชตามแผนที่เกษตรหรือ Agri Map ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น การปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” เช่น การแปรรูป การทำเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์ ชึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาด พร้อมเชื่อมโยงการตลาดหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายช่องทาง เช่น จัดให้มี Branch Outlet การจัดตลาดของดีวิถีชุมชน ตลาดซื้อขายระบบ Online ผ่าน E-Commerce Platform ตลอดจนสร้างระบบเชื่อมโยงการให้บริการซื้อ-ขายสินค้าการเกษตร ปัจจัยการผลิต การจองที่พักแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น พัฒนา สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs เป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนให้มีการผลิตการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร เช่น ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าวของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สุรินทร์ ผู้ประกอบการ SMAEs คิชฌกูฏออร์แกนิคฟาร์มที่ส่งเสริมรวบรวมและรับซื้อผักจากเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีตลาดที่แน่นอนและมีรายได้มั่นคง
ไฮไลต์สำคัญในงานคือ การปฐกถาพิเศษโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ
การปฏิรูปภาคเกษตรไทยอย่างยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในหัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในหัวข้อ ระบบตลาดนำการผลิต ช่องทางการตลาดยุคใหม่ สู่เวทีการค้าโลก และเรื่องบทบาทสถาบันการเงินสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรไทยโดย ธ.ก.ส. นอกจากนี้ยังมีบูธนิทรรศการที่แสดงผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส.ในการขับเคลื่อนนโยบายที่นำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น การบริหารจัดการหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ การดำเนินการตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs จำนวนกว่า 9,000 ราย เป็นหัวขบวนช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วกว่า 300,000 รายในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปีบัญชี 2562 นี้ การนำ Model ความสำเร็จของเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SMAEs ที่จะเป็นหัวขบวนนำการเปลี่ยนแปลง มาเป็นผู้จุดประกายให้กับผู้ร่วมงานในครั้งนี้ รวมทั้ง ขยายผลการให้ความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรรายย่อยให้สามารถยกระดับรายได้ของตนผ่านกลไกสหกรณ์และผู้ประกอบการSMAEs อย่างยั่งยืน
ผลงานที่นำเสนอ ประกอบด้วย โครงการห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม (Value Chain) พืชหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน โคเนื้อ ยางพารา การปลูกผักปลอดสารพิษ โดยมีการจัดการแผนการผลิตตามสภาพพื้นที่ เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ของ สหกรณ์การเกษตรเมือง ตรอน จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ การปรับเปลี่ยนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี เช่น คิชฌกูฏออร์แกนิคฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี ที่ใช้เทคโนโลยีในการปลูกพืชไร้ดิน ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านกลไกสหกรณ์ เช่น สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) สุรินทร์ มีการรวบรวมข้าวจากสมาชิกนำมาแปรรูป มีการระดมทุนสร้างโรงสีโดยไม่ต้องกู้เงิน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในการใช้เทคโนโลยีเครื่องกำจัดมอดด้วยคลื่นวิทยุ ทำให้ข้าวสารปลอดภัยจากการใช้สารกำจัดแมลง การจัดการมันสำปะหลังครบวงจร ของ สกต.สระแก้ว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกด้วยระบบน้ำหยด การรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกด้วยการประกันราคา เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด และผลิตภัณฑ์ต่างๆ พร้อมเชื่อมโยงการตลาดกับสหกรณ์อื่นๆ เป็นต้น รวมถึงแนวทางการสร้างความยั่งยืนผ่านโครงการธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว โดยยกระดับชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นจุดเสริมในการสร้างงาน สร้างรายได้ และการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม
และที่สำคัญคือ การบริหารจัดการด้านการตลาด สำหรับเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ เช่น A-Farm Mart ซึ่งเป็น E-Commerce PlatForm ที่ ธ.ก.ส.ร่วมกับ
บริษัทไทยธุรกิจเกษตรพัฒนาขึ้น โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการSMAEs ลงทะเบียนสินค้า เพื่อจำหน่ายแบบ Online บน PlatForm ดังกล่าว
ซึ่งจะมีการเปิดตัวโครงการในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ยังมีทายาทเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMAEs เกษตรรุ่นใหม่ ที่นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาร่วมโชว์และแชร์ความคิดในการผลิต การใช้เทคโนโลยีและการเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศ ธ.ก.ส.จึงถือโอกาสนี้เชิญพนักงาน ธ.ก.ส.ในพื้นที่มาเพื่อเรียนรู้ และซักซ้อมทำความเข้าใจในการขยายผลภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว
“การปฏิรูปภาคการเกษตรไทย จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรไทย ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรในรูปแบบเดิมไปสู่การพัฒนาแบบครบวงจร เพื่อคุณภาพชีวิตและความสุขของเกษตรกรไทย ที่มั่นคงและยั่งยืน ธ.ก.ส.จึงเป็นมากกว่าธนาคาร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย” นายอภิรมย์กล่าว