ประกันปรับพอร์ตลดลงทุนหุ้น หนีเกณฑ์ใหม่ “RBC2” บีบตั้งสำรองเพิ่ม

วรางค์ ไชยวรรณ

ธุรกิจประกันปรับพอร์ตลด “ลงทุนหุ้น” รับมือเกณฑ์ดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะ 2 บังคับใช้ Q3 ปีนี้ “ฟิลลิปฯ” จ่อลดลงทุนหุ้น 5-10% โยกลงหุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนดี “กรุงเทพประกันชีวิต” ขีดเส้นลงทุนหุ้นไม่เกิน 10% “ไทยประกันชีวิต” ทยอยลดลงทุนหุ้นแล้ว 1 ปี “โตเกียวมารีนฯ” หันลงทุนหุ้นกู้เพิ่ม

นายเสนาะ ธรรมพิพัฒนกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายการลงทุน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทยังดำเนินนโยบายด้านลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรองรับกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 (RBC 2) ที่ คปภ. จะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งทำให้ค่าความเสี่ยง (risk charge) ในการลงทุนในหุ้นต้องปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทลงทุนในหุ้นสัดส่วนแค่ 8% จากเพดานไม่เกิน 10% ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินติดต่อกันมาหลายปี ซึ่งคงไม่มีผลกระทบมาก โดยฝ่ายลงทุนและฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยของบริษัทมีการทดสอบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์อยู่เป็นระยะ

“บริษัทยังคงเน้นลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นกู้กว่า 30% ลงทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 5-6% ที่เหลือลงทุนในพันธบัตรและเงินฝาก โดยปีนี้แผนลงทุนอาจจะดูทั้งหุ้นกู้และพันธบัตร ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป แต่ในแง่สัดส่วนคงประมาณเดิม โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 4.5% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR ratio) อยู่ที่ 255%”

นายปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเหลือแค่ 25-30% จากเดิมอยู่ที่ 35% และมีแนวโน้มลดสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ เนื่องจาก RBC 2 จะทำให้ risk charge สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นเป็น 24-25% จากเดิมที่ 16% โดยบริษัทเตรียมเพิ่มการลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มองหาบริษัทที่ให้ผลตอบแทนราว ๆ 3-4%

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผยว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทลดการลงทุนในหุ้นลง เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯมีความผันผวนสูงขึ้น ประกอบกับบริษัททำการศึกษาผลกระทบ RBC 2 มาโดยตลอด ดังนั้นในการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนในปัจจุบัน จึงได้นำเอาผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาควบคู่ด้วย

“การประกาศใช้ RBC 2 อย่างเป็นทางการจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนของบริษัทแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน CAR ratio ของบริษัท ณ ไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 374% เพิ่มขึ้นมาจากไตรมาส 4/60 ที่อยู่ที่ 321% อย่างไรก็ดีในปี 62 บริษัทยังมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ประมาณ 7-8% สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ คาดหวังผลตอบแทนในช่วง 2-3.5%”

ทั้งนี้ ปัจจุบันสินทรัพย์ลงทุนตามราคาตลาดของบริษัท มีมูลค่ารวม 3.87 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้ภาครัฐ 54% ตราสารหนี้เอกชน 25% ตราสารหนี้เอกชนต่างประเทศ 9% ตราสารทุน กองทุน และกองทรัสต์ รวมกันราว 12%

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิต กล่าวว่า risk charge การลงทุนในหุ้นที่เพิ่มขึ้นกระทบบริษัทไม่มาก เพราะบริษัทลงทุนในหุ้นแค่ 5% ซึ่งปีนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้เพิ่มเป็น 12-15% ของพอร์ตรวม จากเดิมที่อยู่ที่ 6-7% เพราะผลตอบแทนดี

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!