เตือนภัยไซเบอร์ระบาดหนัก สมาคมแบงก์กางแผนรับมือ

สมาคมแบงก์เตือนรับมือภัยไซเบอร์ผ่านโซเชียลมีเดียพุ่ง ชี้กลุ่ม “สูงอายุ” และ “อายุ 18-30 ปี” เป็นเป้า ยันแบงก์พร้อมรับมือ แจงพบฟิชชิ่งเว็บไซต์สั่งปิดทันที พร้อมแจ้งเตือนลูกค้าให้ระวัง ด้าน “TB-CERT” เดินหน้าให้ความรู้ประชาชน-พนักงาน

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การหลอกลวงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือฟิชชิ่ง (phishing) ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทาง TB-CERT ได้แนะนำให้ธนาคารสมาชิกร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ธนาคารลดความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ทั้งที่เกิดกับธนาคารเองและลูกค้าที่ใช้บริการ internet banking โดยเมื่อตรวจพบก็จะแจ้งเครือข่าย CERT ปิดฟิชชิ่งเว็บไซต์นั้นทันที พร้อมแจ้งเตือนลูกค้าธนาคารผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า นอกจากการฟิชชิ่งแล้ว ยังมีภัยไซเบอร์ เช่น มัลแวร์ เป็นต้น ที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ใช้ โดยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีภัยผ่านทางสังคมออนไลน์มากขึ้น เพราะรูปแบบการให้บริการจะเพิ่มขึ้น เป้าหมายคือกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี หรือบุคคลอายุ 18-30 ปีที่เล่นโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ

“ข้อมูล (data) มีคุณค่าเยอะ จึงเป็นเป้าหมายในการหลอกลวงเพื่อล้วงเอาข้อมูล ดังนั้นการหลอกลวงคงมีมาเรื่อย ๆ ปีนี้ก็คงมีอีก” นายยศกล่าว

นายยศกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแต่ละธนาคารพยายามสร้างความเข้าใจประชาชนถึงกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและระมัดระมัดการทำกิจกรรมผ่านอีเมล์มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารที่นอกจากจะสร้างมาตรฐานของระบบภายในธนาคารที่ดีรองรับแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องมีมาตรฐานการรับมืออย่างทันท่วงที

“ในกรณีการฟิชชิ่งที่เกิดขึ้น ธนาคารต้องการให้ประชาชนไม่เดือดร้อน โดยสร้างความเข้าใจแก่เขา ซึ่งถ้าเขามีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ ก็จะไม่มีปัญหา และจะไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคาร อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทาง TB-CERT จะมีแผนงานรองรับต่อเหตุการณ์ภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ต้องดูว่าเทรนด์ในอนาคตมีอะไรและจะป้องกันอย่างไร” นายยศกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้แต่งตั้ง TB-CERT เพื่อให้แต่ละธนาคารได้แชร์ข้อมูลและแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดย TB-CERT มีแนวทางในการให้ความรู้กับประชาชนและพนักงานธนาคาร ทั้งยังคอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

“การฟิชชิ่งถือเป็นเทคนิคการหลอกลวงข้อมูลที่มีนานแล้ว ซึ่งตามปกติจะมีจำนวนฟิชชิ่งทั่วโลกเฉลี่ยแต่ละไตรมาสราว 2-2.5 แสนฟิชชิ่งไซต์ แต่ที่ผิดปกติอย่างมากเกิดในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน ที่มีสูงถึง 9 แสนฟิชชิ่งไซต์ โดยที่ผ่านมามีความเสียหายราว 2%” นายยศกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!