เวิลด์แบงก์คาดเศรษฐกิจไทยปี’60 โต 3.5%

รายงานล่าสุดของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวและการฟื้นตัวจากภัยแล้ง ส่งผลให้จีดีพีขยายตัวเป็นร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่สองซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด รายงานนี้คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของปี พ.ศ. 2560 นั้นจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม 2560 พบว่าการเติบโตของภาคเกษตรที่ร้อยละ 7.7 นั้นได้ช่วยเพิ่มรายได้ และส่งเสริมมาตรการกระตุ้นทางการคลัง รวมถึงการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 6.6 นับว่าสูงที่สุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวน อาทิ การเพิ่มมาตรการปกป้องทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.6 ในปี พ.ศ. 2561 อีกทั้งยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว หากมีการดำเนินการปฏิรูปนโยบายในเรื่อง การศึกษา การเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงจัดทำแผนแม่บทด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจนประสบความสำเร็จ

“รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมาก และได้เปิดตัวโครงการหลายโครงการ ตั้งแต่การขยายการเข้าถึงอินเตอร์เนตความเร็วสูงไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจนถึงการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics Center)” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว “โครงการเหล่านี้ต่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่าย สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ และส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น นี่เป็นตัวอย่างของโครงการตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทั้งในเรื่องความปลอดภัย (Security) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภาครัฐ (Government) กำลังแรงงาน (Manpower) และท้ายที่สุด คือ แอพพลิเคชั่น (Application) รวมเรียกสั้นๆ ว่า SIGMA”

ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโฉมประเทศไทย การบริการโทรศัพท์มือถือมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไปและมีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยสามารถพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลในเชิงเทคนิค รวมถึงสภาพแวดล้อมทางกฏระเบียบข้อบังคับ เมื่อปีพ.ศ. 2559 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 82 ของ 175 ประเทศในเรื่องการพัฒนาภาคโทรคมนาคม (ITU-D) จากตัวชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งวัดการเข้าถึง การใช้งาน และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ ในการสำรวจด้าน E-Government ขององค์การสหประชาชาติซึ่งติดตามความก้าวหน้าในการใช้ระบบ E-Government ในการปรับปรุงการให้บริการภาครัฐ ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 77 จาก 193 ประเทศ

“ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการให้บริการที่มีคุณภาพระดับสูง และกำลังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มขีดความสามารถ” นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาคกล่าว “ความรวดเร็วในการจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลนั้น จะต้องมีการขยายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และคนไทยได้รับโอกาสและประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการด้านธุรกิจ และเพิ่มรายได้ของครอบครัว”

รายงานได้แนะนำว่าประเทศไทยควรคำนึงถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทัลโดยใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นในเรื่องการเพิ่มความสำคัญของข้อมูลในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ รายงานยังได้แนะนำให้เพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อคเชน นอกจากนี้ ประเทศไทยอาจจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้ตามทันและเตรียมรับผลกระทบจากดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดจากดิจิทัลได้อย่างเต็มที่

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เป็นรายงานหลักของธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย จัดพิมพ์ปีละ 2 ครั้งเพื่อวิเคราะห์การดำเนินงานและแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ