ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาการประชุม กนง.

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/2) ที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (1/2) ที่ระดับ 31.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือน ม.ค. โดยเพิ่มขึ้น 304,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานดีดตัวสู่ระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% อย่างไรก็ดี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 3 เซนต์ หรือ 0.1% ในเดือน ม.ค. โดยต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ธ.ค.

นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยทางการจีนได้เผยแพร่แถลงการณ์ หลังเสร็จสิ้นการเจรจาการค้าระหว่างคณะผู้แทนจีนและสหรัฐว่า “การเจรจาการค้ารอบล่าสุดมีความคืบหน้าในประเด็นสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันอย่างตรงไปตรงมา เฉพาะเจาะจง และมีผลลัพธ์ที่ดี” แถลงการณ์ระบุว่า จีนตกลงจะนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร, พลังงาน รวมทั้งบริการและสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะพบปะกันในเดือนนี้เพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลงทางการค้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.31-31.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.31/31.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (4/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1456/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/2) ที่ระดับ 1.1468/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นปลายของไอเอชเอส มาร์กิต ลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน สู่ระดับ 50.5 ในเดือน ม.ค. จาก 51.4 ในเดือน ธ.ค. โดยได้รับผลจากการประท้วงในฝรั่งเศส, ภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้ยาก, ความไม่แน่นอนทางการเมือง และนโยบายกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1436-1.1465 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1446/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (4/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.53/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/2) ที่ระดับ 108.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 29 เดือนในเดือน ม.ค. ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกหดตัวลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกำลังสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.44-109.92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.86/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน พ.ย. (4/2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ม.ค. จากมาร์กิต (5/2) ดัชนีภาคบริการเดือน ม.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/2) ดุลการค้าเดือน พ.ย. (6/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/2)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.3/-2.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ