รพี ส่งไม้ต่อ “รื่นวดี” ทรานส์ฟอร์ม ก.ล.ต. ยุคดิจิทัล

สัมภาษณ์พิเศษ

เข้าสู่ขวบปีท้ายวาระของ “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กำลังจะครบวาระสิ้นเมษายน 2562 ซึ่งช่วงกว่า 3 ปี ได้เข้ามาเพิ่มความเข้มข้นการทำงานของ ก.ล.ต.และแก้โจทย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรากฐานตลาดทุนไทยให้เติบโตยั่งยืน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุย มานำเสนอดังต่อไปนี้

แก้กฎหมายทันผ่านรัฐบาลนี้

“รพี” ยอมรับว่า ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับ ว่าที่เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ที่จะมารับไม้ต่อเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากมีเรื่องการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่..) ที่พูดคุยกัน เพราะคุณรื่นวดีก็อยู่ในตำแหน่งกรรมาธิการด้วย การแก้ไข พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นการวางพื้นฐาน (foundation) ระยะยาว สาระหลักที่แก้ไขในตัวกฏหมาย ก็มีด้านหนึ่งเป็นเรื่องเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องแก้โครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่ารัฐบาลจะเหยียบคันเร่งในการพิจารณาอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่

“การเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจาก ตลท. เป็นผู้ให้บริการ หรือ operation ฝั่ง ก.ล.ต.เป็นผู้ควบคุมกฎ ซึ่งต่อไปจะต้องมีการประเมินการดำเนินงานของ ตลท.ในฐานะเป็นบริษัท ดังนั้น จึงต้องมีหน่วยงานไปประเมินว่า เป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือยัง มีอะไรที่จะต้องแก้ไข มาตรการที่มีเพียงพอต่อการปกป้องผู้ลงทุนหรือไม่ เป็นต้น”

โบรกฯเหนื่อย ! ถูกดิสรัปต์หนัก

มาที่ด้านโบรกเกอร์ไทย เลขาฯ ก.ล.ต.มองว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โบรกฯก็ปรับตัวกันเยอะมาก เพราะโดน ดิสรัปต์เยอะ แต่ปัญหามีอยู่ว่า การปรับตัวของโบรกเกอร์ไปสู่ดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็ว มันขึ้นกับ adoption (การปรับใช้) ของลูกค้าด้วย อย่างที่ทุกคนรู้ว่า ทั้งหมดจะ digitization แล้ว แต่ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านนั้น พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนด้วยหรือไม่ ถ้ายังมีกลุ่มลูกค้าชอบใช้ระบบเดิมอยู่ โบรกฯก็ไม่กล้าจะเปลี่ยนใช้ระบบใหม่ เพราะกลัวลูกค้าหนีหาย

ฝั่งโบรกเกอร์ก็จะมีต้นทุน เพราะต้องทำ 2 ระบบด้วยกัน เนื่องจากระบบใหม่ที่จะมาแน่นอน จะชักช้าไม่ได้ จำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยี แต่อีกด้านยังต้องให้บริการระบบเดิมอยู่ ทำให้ยังเห็นการแข่งขันค่าคอมมิสชั่นหั่นกันจนแทบไม่เหลือ เพราะลูกค้ายังไม่ย้ายตามมาใช้ระบบใหม่ จึงต้องแบกรับต้นทุน 2 ด้าน ขณะที่รายได้จากระบบใหม่ก็ยังไม่ได้กลับมา

ปัจจุบันตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์ฯระบุว่า เกือบ 70% ของรายย่อยที่เทรดผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ถือเป็นการดิจิไทเซชั่นระดับหนึ่งแล้ว ในขั้นถัดไปที่จะพัฒนาให้มีโปรแกรมซื้อขายหรือตัดสินใจซื้อขายแทนนักลงทุน จากที่ได้พูดคุยกับโบรกเกอร์หลายราย นักลงทุนยังไม่มั่นใจระบบใหม่ และมีบางส่วนที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้นด้วยตนเอง โดยยังพึ่งบทวิเคราะห์ คำแนะนำของมาร์เก็ตติ้งอยู่ แต่เทรนด์ทั่วโลกเดินไปสู่การใช้โปรแกรมเทรดดิ้งกันเยอะ เพราะการนั่งเฝ้าหน้าจอและซื้อขายแบบเดิม จะไม่สามารถทำได้รวดเร็วเท่าโปรแกรม และมาร์เก็ตติ้ง จะมีหน้าที่เป็น advisory (ที่ปรึกษา) วางแผนทางการเงิน จะจัดพอร์ตให้ลูกค้า

“ส่วนของไทยยังอยู่ในระบบ hybrid คือ มีการใช้แมชีนมาช่วยให้มาร์เก็ตติ้งทำหน้าที่ได้ดีขึ้น เนื่องจากคนที่เทรดออนไลน์ก็ไม่ได้จะกระโดดมาฝั่งใช้แมชีน(โปรแกรม) ทันที แต่หากมีการเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่น ฐานคนรุ่นใหม่กว้างขึ้น ก็จะมาใช้และซึมซับเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหนเมื่อไหร่”

“รพี” กล่าวว่า ตลาดทุนไทยอยู่่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง โบรกเกอร์ก็ต้องปรับตัวเยอะ และวางแผนว่าจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร และก้าวไปสู่การใช้แมชีนมากขึ้น ซึ่งโบรกฯไหนที่ลงทุนระบบใหม่ หรือเตรียมตัวไว้แล้ว เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านเร็ว ก็จะสามารถจับกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ แต่ถ้าโบรกฯไหนยังไม่ลงทุนไม่เตรียมตัวไว้ ก็จะไม่สามารถทำได้ทัน เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา

“ตอนนี้โบรกฯที่มีสายป่านยาวก็เริ่มทำกันแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นผลในแง่ของมาร์เก็ตแชร์กระโดดขึ้นมา เพราะลูกค้ายังไม่ได้ตามไปใช้ระบบใหม่ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีสายป่านและยังไม่ลงทุน ก็ถือว่ายังกินบุญเก่า ที่ไม่รู้ว่าจะหมดเมื่อไหร่ โบรกฯจะอยู่รอดหรือไม่รอดคงไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอดูการพัฒนาของแต่ละราย เช่น ระบบใหม่จะเจ๋งพอจับลูกค้าได้หรือไม่ ถูกจริตลูกค้ารุ่นใหม่หรือไม่”

เทรนด์คราวด์ซอร์ซิ่ง

“รพี” บอกว่า ปัจจุบันสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป คือ คำแนะนำ (ลงทุน) ที่มาจากคนหมู่มาก ที่เรียกว่า crowdsourcing ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งสิ่งที่มีความหมายคือ ยอดรีวิว และเนื้อหาที่รีวิว ที่จะทำให้คนเชื่อข้อมูลข่าวสารผ่านทางนี้ หากผู้แนะนำการลงทุนคนไหนให้คำแนะนำไม่ดี ไม่มีคนเชื่อ ก็อาจโดนกระแสต่อต้านจากคนหมู่มากกลับไป คราวด์ซอร์ซิ่งจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้บริการว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อใคร และในอนาคตจะเต็มไปด้วยประเด็นเหล่านี้

หลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล ข้อมูลจะกลายเป็นรูปแบบที่ machine-readable ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาใส่ในโปรแกรมเพื่อประมวลให้กลายมาเป็นคำแนะนำผ่านโปรแกรม ซึ่งจะทำได้มากและรวดเร็วกว่าใช้คนแนะนำ

“เราจะไม่ควบคุมคราวด์ซอร์ซิ่ง แต่ในทางกลับกัน คือ เปิดให้ทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดของการโฟลตข้อมูลข่าวสาร และอาจมีการออกประกาศยกเว้นในบางประเด็น เช่น เดิมมีเกณฑ์เข้มงวดกำกับไว้ว่า หากใครให้คำแนะนำและได้ค่าธรรมเนียม (fee) จากคำแนะนำนี้ จะต้องมีไลเซนส์ก่อนนั้น ก็จะแก้ไขยกเว้นให้กลุ่มนี้ สามารถรับค่าฟีทางอ้อม อย่างการสัมมนา เพจที่มีผู้มาตามฟอลโลว์ เราก็จะพิจารณา”

ส่องกระแส ICO ซาลง

สำหรับแนวโน้มการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล (ICO) ที่เบาบางลง ส่วนหนึ่งเพราะตลาดเข้าสู่ช่วง “maturity” และราคาบิตคอยน์เริ่มปรับลดลง นักลงทุนจึงสนใจน้อยลง อีกส่วนหนึ่งคือ ที่ผ่านมาเป็น “hype” (กระแส) ซึ่งนักลงทุนที่กระโจนเข้าไป ก็รู้ว่าทุกอย่างไม่ได้ง่าย

ซึ่ง ก.ล.ต.มีการย้ำเตือนมาตลอดว่า ตลาดคริปโทฯเป็นตลาดของแฟนพันธุ์แท้ คนที่เล่นจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี รวมถึงเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยีเข้าไปดิสรัปต์อะไร เทคโนโลยีทำงานอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา หากดิสรัปต์ไม่สำเร็จจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนแก่นักลงทุนได้ ขณะที่นักลงทุนที่ลงทุนไปก็หวังจะได้ผลตอบแทนกลับมา หากได้ช้านักลงทุนอาจมองว่า นี่เป็นเพียงบทเรียน กระแส ICO จึงจางไป

“ถามว่าในตลาดตอนนี้มีของจริงหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่เห็นขั้นที่สำเร็จ หรือสำเร็จถึงขั้นทำเงินได้”

ส่วนการระดมทุนแบบ STO (securities token offering) หากมีลักษณะระดมทุนเหมือนกับหุ้น หรือหุ้นกู้ จะต้องเข้าเกณฑ์หุ้น หรือหุ้นกู้เช่นกัน ก.ล.ต.มีหน้าที่ต้องพิจารณาดู STO แต่ละรายว่าไส้ในเป็นอย่างไร หากเข้าเกณฑ์หุ้น หรือหุ้นกู้ จะต้องเข้าสู่เกณฑ์ปกติ

ยุคแห่งการปราบผู้ทำผิด

ในด้านการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิด ก.ล.ต.สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น หลังจากมีคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (คมพ.) ทำให้สามารถดำเนินการทางแพ่งได้ถึง 70-80% ในส่วนการเรียกปรับ อีก 20% เป็นการไปฟ้องร้องต่อทางแพ่ง เพราะการลงโทษทางอาญาต้องใช้เวลา บางกรณีนานกว่า 10 ปี

คมพ.ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเริ่มปี 2560 มาจนถึงสิ้นปีที่แล้ว มีจำนวนผู้กระทำผิดยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษ 16 คดี เกี่ยวข้องผู้กระทำผิด 68 ราย จำนวนเงินค่าปรับและให้ชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับกว่า 384 ล้านบาท และมีการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง 11 คดี เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิด 91 ราย

ส่วนการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2561 มีการกล่าวโทษผู้กระทำผิด 313 ราย เปรียบเทียบผู้กระทำผิด 342 ราย เปรียบเทียบปรับ 236 ล้านบาท สำหรับการลงโทษทางบริหาร มีการพักความเห็นชอบบุคลากร 97 คน เพิกถอน 37 คน

“แต่ก็ยังมีคดีที่ตลาดหลักทรัพย์ส่งเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งอยู่ในมือเราไม่ได้มีน้อยลง เพราะมีของใหม่มาเติม ส่วนของเก่าก็ระบายออกไป ซึ่งความเร็วของการทำเคสเก่ากับเคสใหม่พอ ๆ กัน ก็โฟลตตามปกติ ยังไม่ได้เห็นสัญญาณ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

อีกโจทย์ใหญ่ “รพี” บอกว่า อยากให้คนไทยมองเห็น “การเก็บเงินให้พอ ลงทุนให้เป็น” เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับรองรับการเกษียณอายุ เพราะปัจจุบันมีคนใช้ตลาดทุนแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น

“ยุคต่อไปของ ก.ล.ต. คือ ยุคดิจิไทเซชั่น ซึ่ง ก.ล.ต.จะต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เป็นองค์กรดิจิทัลให้ได้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนดำเนินงานจะทำอย่างไรให้เป็นองค์กรที่ตามทันโลกภายนอกที่เปลี่ยนไป การทำให้เป็นองค์กรที่อิงอยู่กับระบบเหล่านี้ และข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรถูกทำให้เป็น open API และ machine readable ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นความท้าทายใหญ่ของ ก.ล.ต.เท่านั้น แต่เป็นความท้าทายทุก ๆ องค์กร” รพีทิ้งท้าย

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!