บาทอ่อนหลังตัวเลขงบดุลแย่ ตลาดจับตาประชุมที่แจ็กสันโฮลล์สุดสัปดาห์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 21-25 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (21/8) ที่ 33.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 33.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในวันศุกร์ที่ผ่านมา (18/8) มหาวิทยาลัยมิชิแกนจะเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.6 ในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม จากระดับ 93.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 94.0 นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ยังได้ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐ ประจำไตรมาสที่ 3 ขยายตัวในอัตรา 2.09% ซึ่งสูงกว่าระดับ 1.96% ที่ระบุในคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ตัวเลขยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากกระแสความวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ภายหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยุบสภาที่ปรึกษา 2 คณะ ซึ่งประกอบด้วยคณะที่ปรึกษาการอุตสาหกรรมและสภายุทธศาสตร์และนโยบาย เนื่องจากผู้นำภาคธุรกิจหลายคนได้ทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิก รวมทั้งนายสตีฟ แบนนอน นักวางกลยุทธ์ประจำทำเนียบขาว ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยนายแบนนอนถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบายทั้งในและต่างประเทศสำหรับฝ่ายบริหารของ ปธน.ทรัมป์ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า คณะบริหารของทรัมป์จะสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายที่เขาใช้หาเสียงช่วงเลือกตั้งได้เป็นผลสำเร็จหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากความเห็นของนายทรัมป์ในวันพุธ (23/8) ซึ่งกล่าวว่า เขาอาจจะระงับข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หากประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่เขาตั้งไว้ได้ ผนวกกับฟิทช์ เรตติ้งส์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ระบุว่า หากสภาคองเกรสสหรัฐประสบความล้มเหลวในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐในเวลาที่เหมาะสม สิ่งนี้ก็จะทำให้ทางบริษัทปรับทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงจากระดับ AAA ในขณะนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของประเทศไทย ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ในช่วงเย็นวันจันทร์ (21/8) มีการแถลงการณ์ของนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวว่า ธปท.เห็นสัญญาณการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่หนาแน่นกว่าปกติในบางช่วง จึงขอให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลเพิ่มเติม หาก ธปท.พบพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) ที่ผิดปกติซึ่งอาจโยงกับการเก็งกำไรก็อาจจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อจำกัดโอกาสการเก็งกำไรค่าเงินบาท ทั้งนี้เนื่องจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% นับตั้งแต่ต้นปี 60 แม้จะเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นสำคัญ แต่ระยะนี้ตลาดเงินตราต่างประเทศผันผวนสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากปัญหาการเมืองในสหรัฐ อาจทำให้มีผู้ร่วมตลาดบางกลุ่มใช้โอกาสนี้มาเก็งกำไรค่าเงินสกุลภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ นอกจากนั้นแล้วค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคมในวันพุธ (23/8) โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,852 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.5% จากตลาดคาดโต 12.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18.5% ส่งผลให้ในเดือนกรกฎาคมขาดดุล 183 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้สำหรับการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 มีมูลค่า 132,399 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 6,783 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.18-33.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 33.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (21/8) ที่ระดับ 1.1751/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 1.1735/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีประจำเดือนกรกฎาคมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18/8) ซึ่งเป็นตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะคงที่ และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.0% ขณะที่ในวันอังคาร (22/8) ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ระบุในรายงานประจำเดือนว่า เศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้อาจขยายตัวเร็วกว่าที่คาดไว้เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม, การส่งออก และการอุปโภคบริโภคขยายตัวอย่างมาก โดยบุนเดสแบงก์เปิดเผยหลังจากที่เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในไตรมาส 2 ว่ายอดขายที่แข็งแกร่งกำลังทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคการผลิตสูงขึ้น ซึ่งทำให้การลงทุนของภาคเอกชนในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังขยายตัว อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในวันพุธ (23/8) ภายหลังจากที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีปรับตัวลดลงสู่ระดับ 10.0 จุดในเดือนสิงหาคม จากระดับ 17.5 จุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 15.0 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหนึ่งในช่วงท้ายสัปดาห์จากความเห็นของนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลินเดา ประเทศเยอรมนี ในวันพฤหัสบดี (24/8) ว่า นโยบายการเงินที่ดีต้องเป็นนโยบายที่จัดเตรียมขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ พร้อมระบุว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และสัญญาณชี้นำล่วงหน้า (Forward Guidance) ที่ทางธนาคารได้นำมาใช้ นายดรากียังกล่าวด้วยว่า การมีความเชื่อมั่นต่อตลาดอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผ่อนคลายกฎระเบียบ ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1729-1.1828 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 1.1794/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (21/8) เปิดตลาดที่ระดับ 109.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/8) ที่ระดับ 109.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงกดดันในช่วงต้นสัปดาห์จากการรายงานถึงมุมมองของบริษัทญี่ปุ่นต่อตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศซึ่งระบุว่า บริษัทส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปีในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ หรืออาจจะไม่มีทางบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เลย โดยบีโอเจเพิ่งปรับเลื่อนกำหนดเวลาในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ออกไปเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนกรกฎาคม โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2019 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2020 อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนยังคงมีการแข็งค่าขึ้นเป็นพัก ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์การเมืองสหรัฐซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าถือเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.81-109.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (25/8) ที่ระดับ 109.62/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่งในช่วงท้ายสัปดาห์ นักลงทุนยังคงจับตาการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสันโฮลล์ รัฐไวโอมิง ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม โดยคาดว่านักลงทุนจะเทความสนใจไปที่ความเห็นของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด และนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อการส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมครั้งนี้หรือไม่