FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ก.พ.62 สูงสุดรอบ 4 เดือน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ฟื้นตัวขึ้นในรอบสี่เดือน จากความเชื่อมั่นการเมือง เศรษฐกิจในประเทศ และเงินทุนเข้าออกระหว่างประเทศ ขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามผลเจรจานโยบายการค้าสหรัฐฯ-จีน และเสถียรภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบสี่เดือน อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์การเมืองที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ติดตามความคืบหน้าผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และติดตามเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

– ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2562) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 25.07% มาอยู่ที่ระดับ 116.76

– ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish)

– ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish)

– ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ Zone ทรงตัว (Neutral)

– ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)

– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

“ในช่วงเดือนมกราคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดเดือนมกราคม จากระดับต่ำสุดของเดือนมกราคมที่ 1560 จุดในช่วงต้นเดือน ก่อนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงสูงสุดของเดือนมาอยู่ที่ 1624 จุดในช่วงปลายเดือน โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มาจากความชัดเจนของการประกาศวันเลือกตั้งในประเทศ และความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การไหลเข้าออกเงินทุนระหว่างประเทศที่มียอดซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยสำหรับเดือนมกราคม รวมถึงความกังวลที่ลดลงจากการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นนโยบายทางการเงินของสหรัฐและทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่แม้ยังไม่คืบหน้า แต่นักลงทุนยังมีความคาดหวังผลการเจรจาในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน สถานการณ์ทางการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ และผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุดเช่นกัน สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาข้อตกลง BREXIT กับ EU ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่ม EU ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และนโยบายเศรษฐกิจของจีนจากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง และผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศในภูมิภาค แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) หมวดธนาคาร (BANK) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่มองว่าหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) และหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด” นายไพบูลย์กล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ที่มีแนวโน้มจะไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 10 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (11 ม.ค. 62) ซึ่งอยู่ที่ 2.15% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นจาก ระดับ 2.53% ณ วันที่ทำการสำรวจ (11 ม.ค. 62) ด้วยความเชื่อมั่นที่ต่ำลงจากการสำรวจครั้งที่แล้ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ Fund flow จากต่างชาติ ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้ อยู่ที่ระดับ 53 สะท้อนมุมมองของตลาดที่เชื่อมั่นว่าการประชุม กนง. ในรอบนี้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อไป โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ Fund flow จากต่างชาติ ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ เป็นหลัก

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุม กนง. มีนาคม 2562 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 58 ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้วและต่ำสุดตั้งแต่ทำการสำรวจ โดยอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)” ในอีก 10 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (11 ม.ค. 62) ซึ่งอยู่ที่ 2.15% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีอยู่ที่ระดับ 70 ลดลงมากเช่นกันแต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase)” จาก ระดับ 2.53% ณ วันที่ทำการสำรวจ (11 ม.ค. 62) โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจาก Fund flow จากต่างชาติ และ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้