คลังหนักอกเพิ่มทุนรวม 2 แบงก์ ชี้ราคาหุ้น TCAP วิ่งแรงกดดันสวอปหุ้น

คลังคิดหนักดีลควบรวม “TMB-ธนชาต” ชี้ต้องใส่เงินเพิ่มทุนสูงสุดถึง 1.3 หมื่นล้านบาท กรณีรักษาสัดส่วนถือหุ้นกว่า 25% จับตาโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โบรกฯ ASP ชี้ 7 ข้อหลังควบรวมภาพแบงก์ใหม่ ส่องหุ้นธนชาตยิ่งใกล้ปิดดีล ราคาหุ้นยิ่งพุ่งขึ้นถึง 7% แรงกว่า TMB ที่ราคาหุ้นอืด

แหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการ TMB จะประชุม 13 ก.พ.นี้ มีวาระสำคัญ คือการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต(TBANK) เนื่องจากต้องเร่งปิดดีลให้ได้ในรัฐบาลนี้ ซึ่งล่าสุดได้ให้ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) วิเคราะห์แต่ละออปชั่นการควบรวมกิจการแล้ว และเมื่อเสนอให้บอร์ด TMB พิจารณาเห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะให้ทุกฝ่ายแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

“มีหลายออปชั่นมาก แต่แนวทางก็คือ หลังการควบรวม กลุ่มไอเอ็นจีจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ทางธนชาตหรือสโกเทีย ก็อาจจะอยู่อันดับ 2 และกระทรวงการคลังก็น่าจะอยู่ลำดับ 3 โดยต้องขึ้นกับคลังจะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งออปชั่นว่าต้องใส่เงินตั้งแต่ 7-8 พันล้านบาท หรือใส่ 1 หมื่นล้านบาท และสูงสุดต้องใส่เงินถึง 1.3 หมื่นล้านบาท หากต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ที่ราว 25% เท่าเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ดีลนี้โจทย์ที่ยากขึ้นอยู่กับทางกระทรวงการคลัง เพราะต้องใช้เงินเพิ่มทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนเก่าที่สูง โดยต้องนำราคาหุ้นที่ต้นทุนอยู่ที่ 3.80 บาท มาคำนวณรวมกับค่าเสียโอกาสต่าง ๆ โดยหักเงินปันผลที่ได้รับในช่วงที่ผ่านมาออกไป

“ทางกระทรวงการคลังต้องรอบคอบ เพราะมีราคาหุ้นที่สูงค้ำคออยู่ ดังนั้นต้องดูว่า เมื่อควบรวมแล้วจะเกิดมูลค่ามากขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพอมีกระแสข่าวควบรวมกิจการ ค่อนข้าง

มีผลกระทบต่อราคาหุ้น บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ TBANK เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากดังนั้น ราคาหุ้นที่จะสวอปกันก็ต้องไม่เอาราคาที่เปลี่ยนแปลงช่วงนี้มาคิด” แหล่งข่าวกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น TMB จะต้องพิจารณาว่า เมื่อมีการควบรวมแล้ว จะได้ประโยชน์มากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร ส่วนจะใส่เงินเพิ่มทุนหรือไม่ ขึ้นกับว่าใส่เงินเพิ่มทุนแล้วเกิดประโยชน์มากกว่าการไม่เพิ่มทุน ประกอบกับการถือหุ้นใน TMB สำหรับกระทรวงการคลัง เป็นการถือเพื่อลงทุนที่ต้องการผลกำไร ไม่ได้ต้องการอำนาจการบริหารงาน

“คลังต้องดูในฐานะผู้ถือหุ้น โดยเงินที่เราลงไปในหุ้นต้องตอบได้ว่า ถ้าทำอะไร ด้วยวิธีการอะไรแล้ว ผลตอบแทนเราต้องไม่แย่ หรือดีขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า หากดีลควบรวม 2 แบงก์นี้สำเร็จ จะส่งผลบวกต่อ 1.ลดภาระต้นทุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี 2.สินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นมาที่ 1.9 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นปีཹ) ซึ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังอยู่อันดับ 6 3.สินเชื่อมีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจาก TBANK มีพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ค่อนข้างสูง ในขณะที่พอร์ตสินเชื่อของ TMB อยู่ในสินเชื่อบ้าน 4.ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ TMB จะดีขึ้น ในขณะที่ NIM ของ TBANK ลดลง 5.อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของ TMB จะดีขึ้น ในขณะที่ TCAP ลดลงเช่นกัน 6.สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หลังควบรวมอยู่ที่ 2.55%ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.2% และ 7.อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverageratio) หลังควบรวมอยู่ที่ 143% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 148.8%

“การควบรวมของทั้ง 2 ธนาคาร TMBเป็นฝ่ายที่จะได้รับประโยชน์ในแง่ที่ NIMและ ROE มีภาพรวมดีขึ้น ในขณะที่ TCAPมีภาพรวมที่แย่ลงหลังควบรวม อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ ไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นายพบชัยกล่าวสรุป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นของ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในธนาคารธนชาต (TBANK) ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นสูงกว่าหุ้น TMB โดยราคาหุ้น TCAP ปรับขึ้นราว 7.4% จากวันที่ 2 ม.ค. ปิดที่ 50.50 บาท วิ่งขึ้นมา 54.25 บาท ณ 7 ก.พ. ขณะที่ราคาหุ้น TMB ขยับขึ้นราว 2.7% จากที่ปิดตลาดต้นปี 2.20 บาท ปรับขึ้นมา 2.26 บาท ปิด ณ 7 ก.พ. 62

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!