สัญญาณเก็งกำไรค่าบาท

ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ยังคงมีเสียงแตกด้วยมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% โดย 2 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปสู่ระดับ 2% (ซึ่งจะทำให้เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค. 2561 ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี) ส่วนกรรมการ 1 คนลาประชุม

โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าดอกเบี้ยระดับปัจจุบันยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานผลิตมาไทย รวมถึงโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงสร้างพื้นฐาน

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเห็นว่ายังมีความเปราะบางหลายจุด แม้ว่าได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินแล้วก็ตาม เพราะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

“เรื่องของค่าเงินบาทก็เป็นปัจจัยที่ กนง.ให้ความสำคัญ เพราะทิศทางการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทก็จะส่งผลต่อพลวัตของเงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย” นายทิตนันทิ์กล่าว

ค่าเงินบาทที่ “แข็งค่า” นั้น ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ กนง.มองว่าต่อไปตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ เช่น สงครามการค้า และ Brexit ซึ่งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวฉับพลันและรุนแรง โดยไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ธปท. พร้อมเข้าไปจัดการดูแลทันที

ส่วนกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ “เงินไหลเข้า” ไทยจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น นายทิตนันทิ์ชี้แจงว่า จากข้อมูลยอดการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทย ตั้งแต่ต้นปี-5 ก.พ. 62 พบว่า มีเงินไหลออกสุทธิอยู่ที่ 5,600 ล้านบาท แยกเป็นไหลออกจากพันธบัตร 12,000 ล้านบาท แต่ไหลเข้าตลาดหุ้น 6,400 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐส่งผลต่อค่าเงินบาทค่อนข้างจำกัด ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับสูงขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ในปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำที่ 0.45% ซึ่งยังคงใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐที่มีค่าราว 0.4%

ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น มาจาก 1.การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังมีท่าทีชะลอการขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจด้วย 2.ช่วงที่ตลาดโลกมีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งค่าเงินบาทที่มีสถานะเป็น regional safe haven จึงแข็งค่า 3.ราคาทองคำที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนทองคำในไทยขายทองคำในรูปสกุลดอลลาร์ และนำเงินมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อทำกำไร 4.จำนวนนักท่องเที่ยวในจีนที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 61 ทำให้ไทยมีดุลบริการปรับสูงขึ้น และ 5.ปัจจัยเฉพาะระยะสั้น คือการขายสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อซื้อเงินบาทในปริมาณมากของบางบริษัทใหญ่ในไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ล่าสุดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวอยู่ที่ระดับ 31.25/27 บาท ณ สิ้นวันทำการ 7 ก.พ. 2562 ซึ่งแข็งค่าต่อเนื่องจากสิ้นปี 2561

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มเห็นสัญญาณเม็ดเงินต่างชาติเคลื่อนไหว (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกน้อยลง โดยในเดือน ม.ค. 62 พบฟันด์โฟลว์ “ไหลเข้า” ลงทุนตลาดหุ้นไทยประมาณ 7,300 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมูลค่า 1,800 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณที่พลิกกลับค่อนข้างชัด

ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือน ม.ค. 62 มีสัญญาณฟื้นตัวบวกขึ้นมา 5% ปิดที่ 1,641.73 จุด ขณะที่ปีที่แล้ว ดัชนีฯติดลบ 10.8% ถือว่า “เด้ง” กลับมาแรงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ เวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% หรือมาเลเซียปรับตัวขึ้นมาติดลบ 0.4%


ส่วนแนวโน้ม กนง.จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกหรือไม่ และเมื่อไหร่นั้น ส่วนใหญ่จะมีมุมมองว่า น่าจะเห็นในครึ่งปีหลัง ส่วนจะกระทบต่อดอกเบี้ยกู้หรือไม่นั้น นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีความเห็นว่า หาก กนง.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ก็น่าจะเห็นแบงก์พาณิชย์ใหญ่และแบงก์ออมสินขยับขึ้นดอกเบี้ยกู้ตามมา