แจก SME 3 หมื่นจ้างทำบัญชี “กอบศักดิ์” ทิ้งทวนแพ็กเกจ “พริวิลเลจ”

“กอบศักดิ์” ยันแพ็กเกจ “เอสเอ็มอี พริวิลเลจ” ไม่ล้ม แจง สสว.รับไม้ต่อหลังตนลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เตรียมเจรจาคลังจัดงบประมาณอุ้ม “ค่าฟีค้ำประกันสินเชื่อ-อุดหนุนดอกเบี้ย” ขณะที่ สสว.พร้อมแจกคูปองช่วยค่าจ้างทำบัญชีให้เอสเอ็มอีรายละ 2-3 หมื่นบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แพ็กเกจมาตรการจูงใจผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบ (เอสเอ็มอี พริวิลเลจ) ที่มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น จะไม่สะดุดแน่นอน แม้ว่าตนจะลาออกแล้ว เนื่องจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะรับหน้าที่ผลักดันมาตรการดังกล่าวต่อไป

“แพ็กเกจมาตรการจูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบ ทาง สสว.จะเดินหน้าต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และการทำโครงการไม่ได้ขึ้นกับตัวรัฐมนตรี ดังนั้น แม้จะลาออก ก็ไม่มีผลให้โครงการต้องสะดุด อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังต้องรอทางกระทรวงการคลังตัดสินใจว่ากรอบต่าง ๆ ที่เสนอไป รับได้ขนาดไหน ซึ่งทาง สสว.จะเข้าไปคุย” นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเริ่มต้นมาจากที่ทาง สสว.ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในเรื่องค่าจ้างทำบัญชี โดย สสว.มีเงินพร้อมสนับสนุนรายละ 2-3 หมื่นบาท โดยให้เป็นคูปอง อย่างไรก็ดี นายกอบศักดิ์ที่รับผิดชอบกำกับดูแล สสว.ได้คิดมาตรการจูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบแบบเป็นแพ็กเกจขึ้นมา โดยดึง ธพว.และ บสย.เข้ามาร่วมด้วย

“นอกจากค่าจ้างทำบัญชีที่ทาง สสว.มีงบประมาณอยู่แล้ว ก็มีการคุยกันว่าจะมีการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ แล้วก็ยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 1.75% ให้ แต่ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะฟรีกี่ปี ต้องให้ รมว.คลังเห็นชอบอีกที” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายกอบศักดิ์กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะช่วยแบบขั้นบันได ด้วยการจัดกลุ่มตามขนาดยอดขาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ใหญ่ กลาง เล็ก โดยเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ คือ มียอดขาย 3-5 ล้านบาทต่อเดือน ขนาดกลางยอดขาย 1-3 ล้านบาทต่อเดือน และขนาดเล็กยอดขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามแพ็กเกจ แต่มีเงื่อนไขว่าเอสเอ็มอีต้องเข้าระบบให้ถูกต้องและต้องจัดทำบัญชีชุดเดียว

นอกจากนี้ มาตรการด้านสินเชื่อ การเข้าถึงสินเชื่อ ค่าจ้างทำบัญชีแล้ว ยังจะมีเรื่องการได้รับประโยชน์จากการคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า แพ็กเกจมาตรการจูงใจเอสเอ็มอีเข้าระบบ คงไม่สะดุด แม้ว่านายกอบศักดิ์จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเรื่องนี้มีการหารือเตรียมการกันมา 90% ได้แล้ว เหลือแค่กระบวนการเสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบ โดยจะดึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี มาเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษนั้น จะขึ้นกับว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณช่วยอุดหนุนแค่ไหน ซึ่งต้องรอเคาะอีกที รวมถึงมาตรการด้านภาษีด้วย

“มาตรการนี้จะพยายามให้เอสเอ็มอีเข้าระบบเป็น e-Business ที่ต้องมีการยื่นเอกสารต่าง ๆ ทางออนไลน์ หรือ e-Filing เพราะทุกวันนี้ยังทำ e-Filing กันแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น” นายมงคลกล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นที่เอสเอ็มอีมีความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,242 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่อ เช่น การปล่อยสินเชื่อ ขั้นตอนเอกสาร ด้านหนี้สิน เช่น โครงสร้างหนี้ หนี้สินครัวเรือน หนี้นอกระบบ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี โครงสร้างภาษีและด้านการศึกษา เช่น พัฒนาการเรียนรู้จัดอบรมให้ผู้ประกอบการ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!