เบรนท์และเวสต์เท็กซัส ปรับลดหลังเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนมีความล่าช้า

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รอบใหม่มีความล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอน หากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าก่อนวันที่ 1 มี.ค. 62 สหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จากร้อยละ 10 ขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 25

– ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ หลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 ขึ้นไปแตะระดับ 96.863 จุดวานนี้ ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นในมุมมองของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ

+ Suhail Al Mazrouei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดการณ์ว่า ตลาดน้ำมันดิบควรจะเข้าสู่สมดุลภายในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเริ่มลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนม.ค. 62 เป็นต้นมา

+/- Manuel Quevedo รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของเวเนซุเอลา เผยว่า เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เวเนซุเอลาได้วางแผนที่จะส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 3 ของโลก เพิ่มมากขึ้นสองเท่า และจะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่ใช้สกุลเงิน (Barter Payment)

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศอินโดนีเซียและศรีลังกา

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาค และปริมาณการส่งออกไปนอกภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การตกลงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัวขึ้น โดยล่าสุด ซาอุดิอาระเบียจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงเพิ่มเติมอีกราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตในเดือนม.ค. 62 สู่ระดับ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดมากกว่าที่ได้ตกลงไว้

จับตาการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาโดยสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้รัฐบาลมาดูโรออกจากตำแหน่ง โดยการคว่ำบาตรนี้อาจส่งผลให้เวเนซุเอลาต้องเปลี่ยนทิศทางการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ไปยังประเทศอื่นๆ แทนสหรัฐฯ

จับตาความคืบหน้าการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนถึงเส้นตายในเดือน มี.ค. 62 ซึ่งหากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้สหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 และคาดว่าจีนจะทำการตอบโต้คืนโดยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน