ดัชนีเชื่อมั่น สะท้อนเศรษฐกิจบวก

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ต่อเนื่องจากบทความคราวที่แล้ว ซึ่งผมได้แชร์ข้อมูลจากสายงานวิจัยกรุงศรีที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีེ ว่า ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดีใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากคาดการณ์นี้แล้ว

ทางธนาคารกรุงศรียังได้มีการจัดทำผลสำรวจรายไตรมาสที่เรียกว่า Krungsri SME Index หรือดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs โดยดูจากเพิ่มขึ้นหรือลดลงของยอดขายและการคาดการณ์ยอดขาย ทั้งการว่าจ้างพนักงานชั่วคราวและการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบ นำมาคำนวณเป็นค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นตัวสะท้อนเศรษฐกิจตัวหนึ่งได้เช่นกัน ผมจึงขอถือโอกาสนี้นำมาเผยแพร่เล่าสู่กันฟังนะครับ

โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs พบว่า ผู้ประกอบการมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ขยับขึ้นจากตัวเลข 3 กว่า มาอยู่สูงถึงที่ตัวเลข 8 ในไตรมาส 4 กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคบริการที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ ความคืบหน้าของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังคงช่วยหนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเขตจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา อย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาคการค้าก็ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าจะลดลงกว่าไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ใน 3 เดือนข้างหน้าหรือในไตรมาสที่ 1 ของปีใหม่นี้ได้ลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในแดนบวก ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีอยู่ โดยผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มยังคงมองเศรษฐกิจในไตรมาสแรกมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง และหากดูเรื่องความกังวลในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาพรวมยังคงคล้ายไตรมาสก่อนหน้า โดย 29% ระบุว่า ไม่มีความกังวล ในขณะที่ 71% ที่มีความกังวล ส่วนใหญ่ยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นความกังวลเรื่องการเมืองและต้นทุน ตามลำดับ

ไม่เพียงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีแนวโน้มที่ดีเท่านั้น ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจหลายสำนัก ก็โชว์ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะไปได้สวยแค่ไหน คงต้องร่วมด้วยช่วยกันนะครับ SMEs ถือเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย เป็นฟันเฟืองของเครื่องจักรใหญ่ของประเทศในการเดินไปข้างหน้าได้ เป็นกลไกกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงสู่ประชาชน

หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ล้วนต้องมีภาค SMEs ที่เข้มแข็ง ดังนั้น SMEs ไทยจะต้องสามารถเพิ่มศักยภาพและปรับตัวให้ทันกับการพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างที่พวกเราเชื่อมั่นครับ