อุปทานน้ำมันดิบลด หนุนราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะระดับสูงสุดของปี

+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ปรับตัวลดลง จากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่วางแผนในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือน มี.ค. ลงไปแตะที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าในข้อตกลงถึง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากจีนในเดือน ม.ค. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอยู่เหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์จากจีนยังคงแข็งแกร่ง

– อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน หลังตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 61 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอย

– จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.พ. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4,000 ราย มาอยู่ที่ 239,000 ราย ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยในรอบสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวดีขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงที่กำลังจะมาถึง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ติดตามผลการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก หลังประกาศร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในเดือนต.ค. 61 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบโลก โดยในเดือนก.พ. 62 ผู้ผลิตน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงกำลังการผลิตมากขึ้น

จับตาการเจรจาเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่สหรัฐฯ จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ราวร้อยละ 25 ในเดือนมี.ค. 62 โดยล่าสุดในการประชุมเจรจาการค้าวันที่ 14-15 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีนกับนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง ส่งสัญญานเชิงบวก

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยว่าตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มอยู่ในภาวะอุปทานล้นตลาดในปี 62 แม้ว่ากลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต และสหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน และเวเนซุเอลา เนื่องจาก IEA คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการผลิตจากสหรัฐฯ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดว่าจะเติบโตที่ราว 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน