ธุรกิจเงินกู้รายย่อยเดือด บีบนายทุนตั้งบริษัท-ปูพรมอีสานพรึ่บ

รัฐเข้มกวาดล้างนายทุนเงินกู้นอกระบบ จับมือตำรวจบีบเจ้าหนี้รายย่อย เข้าระบบ 875 ราย คลังอนุมัติแล้ว 429 ราย แห่ตั้ง”พิโกไฟแนนซ์” จดทะเบียนบริษัททะลุ 400 แห่ง อีสานครองแชมป์ “โคราช-ขอนแก่น-อุบลฯ-ศรีสะเกษ” เจาะลึกลูกค้ารากหญ้าระดับอำเภอ คลังแฮปปี้คนขอไลเซนส์พุ่ง หลังปรับเงื่อนไขให้ “รับจำนำทะเบียนรถ” 

 

หลังจากรัฐบาลมีนโยบายกวาดล้างหนี้นอกระบบ และกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบได้ตั้งนิติบุคคลเพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับ หรือ “สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์” และได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เมื่อช่วงปลายปี 2559 โดยเงื่อนไขหลัก ๆ อาทิ ต้องเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และจะสามารถปล่อยกู้ได้ภายในจังหวัดที่ยื่นขออนุญาตเท่านั้น และปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่มีก็ได้

400 รายแห่ตั้งบริษัทเงินกู้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนตั้งบริษัท จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา มีบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด ทยอยจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อให้กู้ยืมเงิน (64929) รวมทั้งสิ้นมากกว่า 420 ราย โดยส่วนใหญ่ระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้กู้ยืมเงิน ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์/ให้สินเชื่อเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการอาชีพอิสระ รายได้ไม่แน่นอน/ให้บริการสินเชื่อเพื่อประชาชน เป็นต้น

สำหรับในเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา ก็มีผู้สนใจจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 25 บริษัท

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขการจดทะเบียนดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทางการเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยปี 2560 มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทรวมทั้งสิ้นประมาณ 350 ราย

“อีสาน” ตัวเลขนำโด่ง

โดยปีที่ผ่านมาการจดทะเบียนตั้งบริษัทปล่อยเงินกู้ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา มากกว่า 35 บริษัท รองลงไปเป็นขอนแก่น และอุบลราชธานี จังหวัดละประมาณ 25 บริษัท ศรีสะเกษ 21 บริษัท ร้อยเอ็ด 18 บริษัท ชัยภูมิ 15 บริษัท กาฬสินธุ์ 14 บริษัท ยโสธร 14 บริษัท บุรีรัมย์ 13 บริษัท และ มหาสารคาม 12 บริษัท เป็นต้น

ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็มีการตั้งบริษัทพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น อาทิ กรุงเทพฯ มากกว่า 40 บริษัท นนทบุรี 12 บริษัท สมุทรปราการ 7 บริษัท ปทุมธานี 7 บริษัท และสมุทรสาคร 4 บริษัท นอกจากนี้ก็กระจายในจังหวัดต่าง ๆ จังหวัดละ 1-3 บริษัท อาทิ สตูล ยะลา น่าน กระบี่ แม่ฮ่องสอน เลย ตาก เป็นต้น สำหรับภาคตะวันออก ที่มีตั้งบริษัทใหม่หลัก ๆ จะอยู่ที่จังหวัดชลบุรี 16 จังหวัด ระยอง 11 บริษัท

เจาะลึกรากหญ้าระดับอำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากภาพของการจดทะเบียนตั้งบริษัทพิโกไฟแนนซ์ของผู้ประกอบการรายใหม่แล้วที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งจะพบว่าผู้ประกอบการรายเดิมที่เปิดให้บริการมาระยะหนึ่งแล้วก็จะเปิดบริษัทใหม่และขยายกิจการไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น เดิมมีปล่อยเงินกู้อยู่ในนครราชสีมาก็ตั้งบริษัทใหม่เพื่อเปิดบริการที่จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ หรือสุรินทร์ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์ จะปล่อยกู้ได้เฉพาะในจังหวัดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ห้ามปล่อยกู้ข้ามจังหวัด

อย่างกรณีของบริษัท สหไพบูลย์ พิโก ร้อยเอ็ด จำกัด พิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ในภาคอีสาน ที่มีฐานธุรกิจหลักอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยตั้งบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด จนปัจจุบันมีบริษัทพิโกไฟแนนซ์รวมประมาณ 60 บริษัท กระจายอยู่ในร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี ขณะที่ บริษัท พิมายธุรกิจ พิโก จำกัด (จังหวัดนครราชสีมา) ที่ปัจจุบันมีบริษัทปล่อยเงินกู้รวมกว่า 10 บริษัท เปิดให้บริการในอำเภอพิมาย, ประทาย, นางรอง, ลำปลายมาศ, สตึก เป็นต้น

เช่นเดียวกับบริษัท สบาย สบาย ลิสซิ่ง พิษณุโลก จำกัด ที่ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลกมากกว่า 20 แห่ง อาทิ อำเภอวัดโบสถ์พรหมพิราม, บางระกำ, วังทอง เป็นต้น ขณะที่บริษัท รักไพศาลลีสซิ่ง จำกัด ที่มีเครือข่ายสำหรับให้บริการเงินกู้รายย่อย 7 สาขา ในจังหวัดพิษณุโลก อาทิ อำเภอเมืองพิษณุโลก และพรหมพิราม หรือบริษัท ศุภมิตรลิสซิ่ง (พิโก) จำกัด มีสาขาในจังหวัดนครราชสีมา 8 แห่ง ในอำเภอสีดา, ขามสะแกแสง, โนนไทย, แก้งสนามนาง เป็นต้น

2 ปัจจัยหนุนตั้งพิโกไฟแนนซ์

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเค 2017 จำกัด ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดภูเก็ต ในฐานะนายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทพิโกไฟแนนซ์ มีการยื่นขออนุญาตจำนวนมาก หลัก ๆ มา จาก2 ปัจจัย คือ 1.เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 คลังอนุญาตให้สามารถนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์มาเป็นหลักประกันในการขอกู้ได้ ทำให้การกู้ยืมเงินของพิโกไฟแนนซ์ ขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากสามารถรับหลักประกันเพิ่มขึ้นได้ 2.การเร่งปราบปรามหนี้นอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลักให้ยอดตัวเลขผู้ต้องการเข้าสู่ระบบสินเชื่อใต้การกำกับของรัฐ หรือพิโกไฟแนนซ์มากขึ้น

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกเกือบ 900 รายแล้ว ก็มีบางรายที่แสดงความสนใจอยากขออนุญาตสินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกร่างและน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ยื่นขออนุญาตเฉียดพันราย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกระทรวงการคลังได้แก้ไขประกาศ ขยายขอบเขตการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ สามารถทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถได้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 ทำให้มีผู้เข้ามายื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์เพิ่มมากขึ้นเมื่ื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า จากต้นปี 2561 ที่ตัวเลขประมาณ 400 ราย เพิ่มเป็น 579 ราย ในเดือนสิงหาคม และเพิ่มเป็น 654 ราย ในเดือนกันยายน ต่อมาเพิ่มเป็น 721 ราย ในเดือนตุลาคม และกว่า 800 ราย มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ซึ่งส่วนใหญ่ที่มายื่นคำขอระบุว่า ต้องการประกอบธุรกิจรับจำนำทะเบียน

ควบคู่กันนี้ กระทรวงการคลังยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่วมผลักดันเจ้าหนี้นอกระบบ และเชิญชวนเจ้าหนี้นอกระบบให้เข้ามาดำเนินธุรกิจสินเชื่อในระบบให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้มากขึ้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาต จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 875 ราย ใน 73 จังหวัด มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 429 ราย ใน 65 จังหวัด ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว 356 ราย ใน 64 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 349 ราย ใน 63 จังหวัด และ ณ สิ้นปี2561 พบว่ามีผู้คืนไลเซนส์ทั้งสิ้น 102 ราย ใน 47 จังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถประกอบธุรกิจภายใน 1 ปี

3 จังหวัดธุรกิจเงินกู้ยอดนิยม

นายพรชัยระบุว่า สำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 74 ราย กรุงเทพมหานคร 63 ราย ขอนแก่น 50 ราย

ด้านสถิติการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 50,740 บัญชี รวมเป็นเงิน 1,416.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 27,913.34 บาทต่อบัญชี แบบมีหลักประกัน 28,067 บัญชี เป็นเงิน 860.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.77% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 22,673 บัญชี เป็นเงิน 555.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.23%

ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 19,223 บัญชี คิดเป็นเงิน 563.17 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) มี 1,799 บัญชี หรือคิดเป็นเงิน 55.93 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.93% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 613 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 20.05 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.56% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

คลิกอ่านเพิ่มเติม ธุรกิจสินเชื่อแข่งเดือด! ครม.ปลดล็อกเพดานดอกเบี้ย 15% คุมเข้มพิโกไฟแนนซ์-ลิสซิ่ง ขึ้นทะเบียน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!