เสิร์ฟ “KMA” ฟีเจอร์ใหม่ แบงก์กรุงศรีชูธง “โลกการเงินในอนาคต”

เข้าสู่ปี 2562 ศึกโมบายแบงกิ้งยังคงร้อนแรง หลายแบงก์ทยอยผุดฟีเจอร์ออกมาเอาใจลูกค้า อย่างล่าสุด “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ได้ประกาศเป้าหมาย “กรุงศรี โมบาย แอปพลิเคชั่น” หรือ “KMA” ในปีนี้ โดยมุ่งขยายฐานผู้ใช้งานเป็น 5 ล้านราย จาก 2.5 ล้านราย ในปีก่อน

“ฐากร” บอกว่า จะดำเนินกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน KMA ผ่าน 3 แกนหลัก ได้แก่ แกนแรก การขยายฐานลูกค้า (acquisition) ที่ลูกค้าจะสามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์ บัญชีหุ้น หรือบัญชีกองทุนแบบออนไลน์ได้จากการยืนยันตัวตนผ่าน digital ID และ e-KYC ที่จะมีส่วนช่วยหนุนการเข้ามาใช้งานของลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้เร็วสุดในไตรมาสแรก

ขณะเดียวกัน KMA ยังจะเปิดให้ลูกค้าขอสินเชื่อยานยนต์และสินเชื่อบ้านผ่านแอปได้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้บริการได้ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ รวมถึงการซื้อประกันทั้งประกันผ่าน KMA ได้ในไตรมาส 3 โดยแบงก์คาดว่าจะทำยอดกรมธรรม์ผ่าน KMA ได้กว่า 10,000 กรมธรรม์ในปีนี้

“ฐากร” กล่าวอีกว่า แกนที่ 2 คือ การบริการ (services) ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ จบครบในแอปเดียว ทั้งจัดการบัตรเครดิต สมัครบริการบัตรเครดิต หรือชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่าน FacebookPay, QR code ด้วยบัตรเครดิต Visa และ MasterCard และที่สำคัญ ลูกค้าสามารถใช้ “PromptPay QR code” ชำระค่าสินค้าในต่างประเทศได้ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าได้รับจะถูกกว่าไปแลกเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร

“KMA จะเปิดให้ลูกค้าสามารถสแกน PromptPay QR code เพื่อชำระเงินค่าสินค้าได้ในประเทศญี่ปุ่นก่อนเป็นประเทศแรก ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้ได้ไปจับมือกับ 3 เครือข่ายร้านค้าขนาดใหญ่ (chain) ในญี่ปุ่นไว้แล้ว จากนั้นจะขยายไปประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่กำลังหารือกันอยู่ เนื่องจากในการเข้าไปเปิดบริการในต่างประเทศจะไม่ง่ายเหมือนในไทย เพราะไทยจะมี QR code มาตรฐาน ในขณะที่แต่ละประเทศจะมีรูปแบบ QR code ที่แตกต่างกันไป จึงต้องเจรจากันให้ลงตัว”

สุดท้าย แกนที่ 3 คือ การตลาด (marketing) ที่ KMA จะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าและบริการ หรือ e-Marketplace ที่ลูกค้าจะสามารถเลือกซื้อสินค้าและชำระเงินผ่าน KMA พร้อมส่วนลดและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ผ่านการคัดเลือกพันธมิตรที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีโปรไฟล์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

“ฐากร” บอกอีกว่า อีกบริการสำคัญที่ธนาคารจะรุกในปีนี้ คือ “digital lending” หรือการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่จะผลักดันอย่างเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันที่ยังเป็นกึ่งออนไลน์และออฟไลน์ เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการลดลง โดยคาดว่าต้นทุนของแบงก์ปีนี้จะลดลงราว 40%

“วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง ก็เพื่อจะรองรับวงเงินสินเชื่อ (loan size) ที่ลดลงได้ เนื่องจากธนาคารอยากจะปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าด้วยจำนวนเริ่มต้นในหลักพันบาทต่อราย ตามความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า โดยคาดว่าจะเห็นได้ในไตรมาส 2 ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อผ่านออนไลน์อย่างต่ำ 3,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ด้วยความที่ KMA จะปล่อยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาจำนวนมากในปีนี้ “ฐากร” บอกว่า ธนาคารจึงต้องเพิ่มความสามารถของระบบ (capacity) ให้มากขึ้นด้วย และต้องมั่นใจว่าระบบจะมีเสถียรภาพที่ดี

“เราได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบมากกว่า 2 เท่า และมีทีมงานคอยดูแลอยู่อย่างดี ทั้งยังทุ่มงบฯลงทุน KMA ปีนี้กว่า 800 ล้านบาท และทีมงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 คนอีกด้วย”

“ฐากร” ย้ำว่า ความสำเร็จของ KMA ในปี 2561 ที่ผ่านมา สะท้อนได้จากตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ปริมาณธุรกรรมสูงถึง 1,000 ล้านรายการ ใน 1 ปี หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปี 2560 ด้วยสถิติยอดธุรกรรมสูงสุดถึง 7,000 รายการต่อนาที คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมรวมกว่า 500,000 ล้านบาท

“ธนาคารพร้อมดัน KMA สู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโลกการเงินในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม API open banking, AI และ big data & intelligence” ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรมแบงก์กรุงศรีกล่าว

“KMA” ขนฟีเจอร์มาเสิร์ฟลูกค้าแน่นขนาดนี้ แบงก์อื่นไม่ขยับ…คงไม่ได้แล้ว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!