ธปท.ชูแผนดิจิทัลเพย์เมนต์ 4 ดึงธุรกิจสู่อีบิสซิเนส

แบงก์ชาติเดินหน้าแผนดิจิทัลเพย์เมนต์ฉบับ 4 พุ่งเป้าดึงภาคธุรกิจใช้งานมากขึ้น เตรียมปั้นธุรกิจนำร่องเป็น e-Business ดันพัฒนาระบบ “เรียกเก็บเงินปลายทาง” ให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจหวังลด “ใช้เช็ค-เงินสด”

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2564) ว่า ภายใต้แผนดังกล่าว ธปท.ต้องการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนำกระบวนการที่เรียกว่า e-Business (กระบวนการธุรกิจดิจิทัล) มาใช้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ซึ่งจะช่วยลดการใช้เอกสารได้มากในเรื่องการชำระเงิน

“ธปท.จะเข้าไปหาหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม โดยจะทำเป็นโครงการนำร่อง หรือธุรกิจต้นแบบที่จะร่วมกันพัฒนา e-Business นี้” นางสาวสิริธิดากล่าว

สำหรับด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน ธปท. จะสร้าง ecosystem ให้เอื้อ โดยจะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบ digital payment มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของข้อมูลให้แก่ภาคธุรกิจ

“ในการจะพัฒนาบริการทางเลือกให้ภาคธุรกิจใช้แทนเงินสดและเช็ค เป็นเป้าหมายที่เราจะมุ่งไปโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เป็นอีคอมเมิร์ซหรือโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะมีการใช้ในลักษณะที่เป็น cash on delivery หรือ COD (บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง) ค่อนข้างมาก ฉะนั้น การมีบริการที่ตอบโจทย์ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำกระบวนการ digital payment เข้ามาสู่กระบวนการภายในของธุรกิจได้เป็นอย่างดี” นางสาวสิริธิดากล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการเงินสดที่ยังมีอยู่ในระบบ ยังต้องมีความสำคัญที่ต้องทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเดินหน้าไปสู่ digital payment แล้วก็ตาม ซึ่ง ธปท.จะผลักดันให้มีบริการมาทดแทนการใช้เงินสดและการใช้เช็คในระยะต่อไป

ทั้งนี้ จากสถิติการใช้งานพร้อมเพย์ ณ 31 ธ.ค. 2561 พบว่า การลงทะเบียนในส่วนของนิติบุคคลยังมีเพียงแค่ 7.1 หมื่นเลขหมายเท่านั้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจหลายแห่งยังใช้เช็คอยู่ เพราะมีความหมายมากกว่าช่องทางการชำระเงิน แต่ยังหมายถึงกระบวนการควบคุมภายในด้วย ดังนั้น หากจะส่งเสริมให้เกิด digital payment คงไม่ใช่แค่การชำระเงินอย่างเดียว แต่กระบวนการในเรื่อง e-Business จึงสำคัญ ซึ่งหมายถึงกระบวนการทางด้านที่เกี่ยวกับภาษีด้วย

“โจทย์สำคัญภายใต้แผน ระยะที่ 4 ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราต้องการให้ digital payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน นี่เป็นหัวใจที่สำคัญมาก เราไม่ได้ทำแค่ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่โจทย์คือทำยังไงให้เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินสำหรับประชาชนและธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ โดยเราก็มีกรอบการทำงานที่เรียกว่า 5I” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ นายวิรไทกล่าวด้วยว่า ในปี 2561 ที่เป็นช่วงท้ายของแผน ระยะที่ 3 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการใช้ digital payment เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยนับจากปี 2559 มาถึงในปี 2561 เพิ่มมาอยู่ที่ 5,868 ล้านรายการต่อปี หรือเพิ่ม 83% เห็นได้จากการใช้ digital payment ของรายย่อยโตขึ้นถึง 115% ขณะที่อินเทอร์เน็ต/โมบายแบงกิ้งโตขึ้นถึง 260% จำนวนบัญชีโมบายแบงกิ้งเพิ่ม 47 ล้านบัญชีหรือเพิ่มเท่าตัว

ด้านการโอนเงินผ่านสาขาก็ลดลงไป 30% เนื่องจากคนหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่นเดียวกับการโอนเงินผ่าน ATM ที่ลดลง 34% ด้านการใช้เช็คก็มีการลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งปริมาณและมูลค่า ลดลงประมาณปีละ 6.6-6.7% และที่สำคัญ ในปี 2561 การถอนเงินสดผ่าน ATM ลดลงเป็นครั้งแรก จากเดิมที่จะเพิ่มปีละ 2-3%

“ถ้าดูการใช้ digital payment ต่อคนต่อปีของประเทศไทย จากตอนที่เริ่มทำเรื่องพร้อมเพย์เมื่อปี 2559 อยู่ที่ 49 ครั้งต่อคนต่อปี น้อยกว่ามาเลเซียเท่าตัว แต่ในปี 2561 เราเพิ่มเป็น 89 ครั้งต่อคนต่อปีก็ยังตามหลังหลายประเทศอยู่ อย่างสิงคโปร์ที่สูงถึง 770 ครั้งต่อคนต่อปี จึงยังมีโอกาสที่เราจะทำได้อีกมาก” นายวิรไทกล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่มีปัญหาระบบล่มเกิดจากปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งก็มีการเรียนรู้และแก้ปัญหากันมาตลอด โดยขณะนี้ก็มีการเพิ่มความสามารถในการรองรับธุรกรรมของระบบ (คาพาซิตี้) ให้มากขึ้น อย่างบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) ก็ขยายการรองรับธุรกรรมได้ 2 เท่าในช่วงที่มีปริมาณธุรกรรมสูงสุด (พีก) และจะเพิ่มมากขึ้นอีกในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!