คลังจ่อเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 แบงก์รัฐออกไป 1 ปี

แฟ้มภาพ

แหล่งข่าวจากระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างเสนอให้พิจารณาให้เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ การรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 ( IFRS9) สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ ออกไปก่อน จากเดิมที่จะเริ่มมาใช้ในปี 2563 พร้อมธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้แบงก์รัฐมีเวลาในการเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องผลกระทบที่อาจจะต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อีกทั้งแบงก์รัฐเองไม่ได้ระดมทุนจากต่างประเทศ การเลื่อนใช้ออกไปก่อนจึงไม่น่าจะกระทบกับความเชื่อมั่น ส่วนจะขยายเวลาออกไปมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังไม่ได้กำหนด

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แบงก์รัฐบางแห่งใช้วิธีการคำนวณไม่เหมือนแบงก์อื่น เช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีงวดการชำระหนี้เป็นตามฤดูการผลิตของเกษตร แต่ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ จะต้องใช้ข้อมูลสถิติย้อนหลัง 60 งวด เพื่อคาดการณ์โอกาสผิดนัดชำระหนี้ในอนาคต เท่ากับว่าธ.ก.ส.จะต้องใช้ข้อมูลย้อนหลัง 60 ปี ซึ่งข้อมูลที่ธ.ก.ส.มีไม่เพียงพอ ขณะที่ธนาคารออมสินเองในปัจจุบันยังสำรองหนี้เสียน้อย โดยเฉพาะหนี้ครู ทำให้ภาระการสำรองจะเพิ่มขึ้นมาก เป็นต้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้รับทราบมาว่าทางกระทรวงการคลังอาจจะมีการพิจารณาเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 สำหรับแบงก์รัฐออกไปอีก 1 ปี จากเดิมใช้ปีต้นปี 2563 เป็นเริ่มใช้ในปี 2564 เพื่อให้แบงก์รัฐมีเวลาเตรียมความพร้อมเรื่องระบบต่างๆ เพราะขณะนี้มีหลายแห่งที่ยังไม่มีความพร้อม โดยในส่วนของธนาคารออมสินต้องมจ้างพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อรองรับ คาดว่าระบบจะแล้วเสร็จในปี2563 ส่วนผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ต่อธนาคารที่จะต้องมีการสำรองเพิ่มนั้น ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขว่าธนาคารจะต้องกันสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นเท่าใด

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาธ.ก.ส.เตรียมพร้อมเรื่องสำรองหนี้ไว้แล้ว หากนำมาตรฐานบัญชีใหม่มาใช้จริง ผลกระทบไม่สูงมาก เพราะที่ผ่านมาธนาคารกันสำรองไว้ค่อนข้างมาก ตามนโยบายการทำงานแบบระมัดระวัง หรือ คอนเซอร์เวทีฟ เช่นลูกค้าที่ประสบภัยต่างๆ แม้จะไม่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล และไม่ต้องกันสำรอง แต่ธนาคารก็กันสำรองบางส่วนไว้ ตามความเสี่ยงของลูกค้า เป็นต้น

“ปัจจุบันการกันสำรองหนี้เสียของธ.ก.ส. เป็นการกันสำรองตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นการกันสำรองตามการจัดชั้นลูกหนี้ ซึ่งมี 3 ชั้น คือชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ปกติ ธนาคารกันสำรองไว้ 1% ของหนี้ทั้งหมด ส่วนลูกหนี้ชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มค้างชำระ 1-3 เดือน โดยทั่วไปธนาคารจะกันสำรองไว้ที่ระดับ 10%ของหนี้ทั้งหมด แต่ในส่วนของธ.ก.ส. มีการกันสำรองหนี้ในกลุ่มนี้ไว้ 100% เพราะพอร์ตของธนาคารการชำระหนี้เป็นครอปปี ถ้าค้างไป 1-3 เดือน ธนาคารก็สำรองไว้ 100% เลย เพราะมีโอกาสเป็นเอ็นพีแอลสูง ส่วนหนี้ที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน หรือเอ็นพีแอล ธนาคารก็กันสำรอง 100% อยู่แล้ว”นายอภิรมย์กล่าว

นายอภิรมย์กล่าวว่า นอกจากนี้ธนาคารยังมีการกันสำรองอีกส่วน คือ การสำรองตามคุณภาพหนี้ เช่นกลุ่มลูกหนี้ที่ธนาคารได้มีการพักชำระหนี้ให้ ธนาคารก็แยกพอร์ตออกมา ถ้าพอร์ตไหนลูกค้าเป็นชั้นกลางไปหาต่ำ ธ.ก.ส.ก็สำรองไว้สูงหน่อย ทั้งที่ความจริงกลุ่มที่พักหนี้ไม่ต้องกันสำรองก็ได้ แต่ธนาคารจะดูว่าลูกค้าที่พักหนี้บางพอร์ตมีความเสี่ยง เราก็สำรองตามคุณภาพ ดังนั้นหากเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ เกือบจะไม่มีผลกระทบเรื่องการตั้งสำรองเพิ่ม หรือมีผลกระทบแค่เล็กน้อยเท่านั้น

นายอภิรมย์กล่าว ตัวที่จะมีผลกระทบในอนาคต หากใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 คือ การเรื่องการคำนวณโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ต่างๆ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลย้อนหลัง 60 งวด เพื่อนำมาคาดการณ์โอกาสเกิดการผิดนัดชำระในอนาคต หรือดูทั้ง opportunity to default และ expected lost ซึ่งหากดูย้อนหลังไป 60 งวด สำหรับของธ.ก.ส.มันคือ 60 ปี ซึ่งข้อมูลของธนาคารไม่พอ แต่ในทางสถิติ หากจะให้การคำนวนแม่นยำ เที่ยงตรง ต้องใช้ข้อมูล 60 งวด เป็นต้น

 

ที่มา:มติชนออนไลน์