สศช.ไม่ฟันธงจีดีพีปี’62 ลุ้นเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ชี้ชะตา ศก.ไทย

“ปี 2562 สภาพัฒน์ยังไม่ได้ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ โดยยังคาดการณ์ช่วงการขยายตัวที่ 3.5-4.5% หรือค่ากลางที่ 4% เนื่องจากยังต้องรอดูสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามทางการค้าอย่างใกล้ชิด และการเลือกตั้งไทยในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย”

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยยอมรับว่า ช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงกว่าครึ่งปีหลัง เพราะยังมีความไม่ชัดเจน ทั้งผลการเลือกตั้ง และการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็ยังไม่มีข้อยุติ

พร้อมกับเสนอแนะแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 ได้แก่ 1) ด้านการส่งออก ต้องพยายามเร่งรัดหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยขับเคลื่อนการส่งออกให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% 2) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมา 3) มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ยังต้องเน้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

“ปัจจัยการเมืองคงเป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการการเมืองนิ่งและความชัดเจนในเชิงนโยบาย โดยนักลงทุนอาจจะรอจังหวะอยู่บ้าง ก็คิดว่าพอหลังเลือกตั้ง ซึ่งหวังว่าเมื่อการเมืองนิ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2562” นายทศพรกล่าว

4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งภาครัฐต้องเบิกจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 70% รัฐวิสาหกิจเบิิกจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 80% และงบฯ กันเหลื่อมปีต้องเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 75% 5) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก และ 6) เตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพของแรงงานให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคลงทุน

“วิชญายุทธ บุญชิต” รองเลขาธิการ สศช. เสริมว่า น้ำหนักที่จะมีผลกระทบค่อนข้างมาก จะอยู่ที่สงครามทางการค้ามากกว่า โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลงแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาผลเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีนที่จะมีการเผยแพร่วันที่ 1 มี.ค.นี้ รวมถึงจับตาการทำงบประมาณปี 2563 ของสหรัฐ

“การคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 4% นั้น อยู่บนสมมุติฐานว่า สงครามการค้าไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลง ส่วนการแยกตัวกันของสหภาพยุโรปก็เริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนก็ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะชะลอต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับสมมุติฐานด้านมูลค่าการส่งออกโตแค่ 4.1% ในปีนี้ ลดลงจากที่เคยประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 4.6% ขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงจากปีก่อน แต่ยังอยู่ระดับสูง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อยจากปีก่อนอยู่ที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์

ด้านในประเทศยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร และจับตากระบวนการงบประมาณปี 2563 ที่มีความเสี่ยงจะล่าช้า ที่จะส่งผลต่อแรงขับเคลื่อนภาคการคลังในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายมีแรงกดดันลดลงมากต่อการปรับขึ้น

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ ได้แก่ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% ตามฐานรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในส่วนภาคการส่งออก และการจ้างงานที่เป็นไฮไลต์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง ครอบคลุมเกือบทุกสาขา ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 4/2561 ลดลงเหลือ 0.9% ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส

“ในช่วงเดือน มี.ค.นี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งเข้ามาอีกรวมแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนด้านครัวเรือนให้ขยายตัว”

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วย เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมาตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 42% โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่เพิ่มถึง 37% ด้านการท่องเที่ยวก็จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาสแรกนี้ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมียอดถึง 41 ล้านคน ทำรายได้ 2.24 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ สภาพัฒน์จะปรับประมาณการจีดีพีปี 2562 ใหม่ วันที่ 21 พ.ค. นี้ ถึงตอนนั้นก็หวังว่าปัจจัยลบต่าง ๆ จะคลี่คลาย

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!