“ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล” จ่อลดน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย

บลจ.ซีไอเอ็มบี เล็งปรับ “ลด” EPS ตลาดหุ้นไทยปีนี้ หลังสัญญาณลบนอกประเทศรุมเร้า ฉุด ศก.ไทยโตช้า-ส่งออกสะดุด ลุ้นเลือกตั้งได้รัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดปีนี้ตลาดหุ้นไทยผันผวนสูงให้กรอบดัชนี “1,600-1,850 จุด” ชี้ช่องลงทุนหุ้นกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะ “หุ้นจีน-เวียดนาม” เหตุราคาปรับลงมาต่ำ

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจะปรับ “ลด” ประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS growth) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยรวมลงจากปัจจุบันที่คาดไว้สูงราว 7-8% เนื่องจากเป็นการประเมินเมื่อปลายปีที่แล้วที่คิดว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จะสดใส แต่ขณะนี้มีสัญญาณเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง โดยเฉพาะสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน และยังมีประเด็นปัจจัยลบนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, Brexit และความผันผวนในตลาดหุ้นทั่วโลก ก็ยังคอยกดดันเศรษฐกิจไทย

ขณะที่สำนักวิจัยของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเติบโตช้าอยู่ที่ 3.7% เนื่องจากภาคส่งออกไทยโตช้าลงจากเทรดวอร์ แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายและเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาแล้ว รวมทั้งภาพรวมตลาดหุ้นไทยมี valuation (มูลค่า) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และมีนักลงทุนต่างชาติถือต่ำสุดในรอบ 20 ปีแล้ว ดังนั้น จึงมองว่าปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทย

นายวินประเมินว่า กรอบ SET Index (ดัชนีตลาดหุ้นไทย) ปีนี้อยู่ที่ 1,600-1,850 จุด ซึ่งจะผันผวนค่อนข้างสูงเหมือนปีที่แล้ว โดยหากดัชนีปรับลงใกล้ระดับ 1,600 จุดหรือต่ำกว่านี้ ขอแนะนำให้ “เพิ่ม” น้ำหนักลงทุนในหุ้นไทยที่เป็น defensive (หุ้นที่สามารถทนทานต่อทุกสภาวะตลาดหุ้น) ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และกลุ่มสาธารณูปโภค รวมทั้งยังมีกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เป็นต้น

“ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กรุ๊ป ได้ปรับมุมมองเป็นซื้อ (buy) ในต้นปี 2562 รวมถึงอินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นกลุ่มที่ชอบที่สุดในอาเซียน โดยมองว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นผลให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่ strict ว่า จะลงทุนในประเทศที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็อาจกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่วนการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นจุดที่นักลงทุนต่างชาติชื่นชอบ ขณะที่การเติบโตของกำไร บจ.บางกลุ่ม เช่น กลุ่มสื่อสารที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่กลับมีการเติบโตค่อนข้างน้อย และกลุ่มธนาคาร ที่มีการเติบโตของสินเชื่อแค่เลขหลักเดียว ก็เป็นจุดที่นักลงทุนต่างชาติแสดงความกังวล” นายวินกล่าว

สำหรับเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) นายวินกล่าวว่า เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐค่อนข้างแพง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกมีการปรับฐานลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ จึงแนะนำ “เพิ่ม” น้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม โดยระยะข้างหน้าคาดฟันด์โฟลว์จะยังไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. 61-ม.ค. 62