ขึ้นเพราะอะไร จะไปต่อหรือไม่

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธ์ ไทยพาณิชย์

หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี ในวันนั้นเปิดเทรดวันแรกวันที่ 2 ม.ค. ตลาดเพิ่งผ่านประสบการณ์ตลาดหมี (bear market) มาตลอดหลายเดือน หลังปรับตัวลง -5% ในเดือน ธ.ค. รวมเป็น -11% ในไตรมาส 4 (ร่วงจาก 1,750 มาปิดปีที่ราว 1,560 จุด) ซึ่งผมเขียนบทความเรื่อง “ไม่ควรขายตอนนี้” เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนมองภาพพื้นฐานในระยะยาว

มาวันนี้ผู้ที่อดทนถือหุ้นเอาไว้น่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี หลังผ่านมา 1 เดือน ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET index) ปรับตัวขึ้นกลับมาที่ราว 1,650 จุด (+5% ในเดือน ม.ค.) คำถามที่ผมได้รับคือ “ตลาดขึ้นเพราะอะไร” คำตอบคือ ตลาดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกับที่มันลงเมื่อปลายปีก่อน (เพียงแต่กลับด้านเป็นบวก)

เมื่อปีก่อนหุ้นร่วงสวนผลประกอบการดี เพราะ “ตลาดกังวล” ว่านโยบายการเงินที่ตึงและนโยบายกีดกันการค้าที่ดุเดือดอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่วันนี้เมื่อผ่านมา 1 เดือน “ตลาดหายกังวล” หลังรับรู้ว่าโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นไม่มากนัก (หลายคนบอกว่าอีก 2 ปีจะเกิด ซึ่งบอกอย่างนี้มาแทบทุกปีในช่วง 3-4 ปีนี้) ส่งผลให้ valuation (เช่น PE ratio หรืออัตราราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ) ดีดตัวขึ้น เราเริ่มเห็นแนวโน้มปัญหาต่าง ๆ คลี่คลาย เช่น ธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน สหรัฐ-จีนเดินหน้าเจรจาการค้า

เมื่อไม่มีวิกฤตหุ้นก็ขึ้น แม้ผลประกอบการต่ำ คาดเดือนมกราคม SET ปรับตัวขึ้น 5% (โดยกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นแรง ได้แก่ กลุ่มอาหาร +9.1% กลุ่มพาณิชย์ +7.7% และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง +7.9% ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวลงแรง ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี -5.8% กลุ่มการแพทย์ -1.8%) แม้ forward EPS (คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น ล่วงหน้า) ของ SET จะลดลง -2% จาก 115 เหลือ 113 (หลังผลประกอบการกลุ่มธนาคารออกมาน่าผิดหวัง และราคาน้ำมันที่ต่ำปลายปีก่อนกดดันผลประกอบการกลุ่มพลังงาน) แต่ FWD price-to-earnings ratio ปรับตัวขึ้น 8% จาก 13.5 เท่า มา 14.6 เท่า (จาก -1.6SD หรือต่ำกว่าค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งอยู่ใต้เส้นค่าเฉลี่ย 3 ปี มาอยู่ที่ -0.7SD) บ่งบอกถึง “ความหายกังวล” ของนักลงทุน

ปัจจัยเสี่ยงเริ่มคลี่คลาย 1) Fed ส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย และอาจหยุดลดสภาพคล่อง (quantitative tightening) เร็วกว่าคาด ซึ่งสภาพคล่องส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ขยับขึ้น 2) ธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยต่ำไปจนหลัง ก.ย. อาจยาวกว่านั้นถ้าจำเป็น 3) ธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบรวมถึงลด RRR (reserve require-ment ratio) ให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น ลดผลกระทบจากสงครามการค้า 4) การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน คืบหน้า ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (เช่นน้ำมัน)

ตลาดยังไปต่อได้หรือไม่ ? ผมว่ามีลุ้นไปต่อ อย่างน้อยก็ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพราะปกติเป็นช่วงประกาศผลประกอบการและกำหนดปันผล เดือน ม.ค.-มี.ค. จึงมักเป็นช่วงหุ้นปรับตัวขึ้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ปัจจัยในประเทศยังจะช่วยผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 เดือนต่อจากนี้ จะเข้าสู่ช่วงของการหาเสียง ซึ่ง preelection rally มักเกิดในช่วงหาเสียง (ก่อน 24 มี.ค.) โดยนโยบายหาเสียงมักส่งผลดี ทั้งกระตุ้นรายได้รากหญ้า เช่น ดูแลราคาสินค้าเกษตร การอัดเม็ดเงินลงบัตรประชารัฐ (ของรัฐบาลปัจจุบัน) รวมถึงนโยบายกระตุ้นตลาดทุนเช่นการต่ออายุ LTF

สำหรับตัวเลขจริง เริ่มเห็นการท่องเที่ยวดีขึ้น ต่างชาติกลับมาเข้าไทยเพิ่มขึ้น มาที่ 3.8 ล้านคนใน ธ.ค. +7.7%YOY ข่าวดีคือนักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งคิดเป็น 22% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด) พลิกกลับมา +3%YOY และยังขยายตัวต่อเนื่องมาในเดือน ม.ค. 2562 ด้วย

ราคาน้ำมันฟื้น หลังจากร่วงแรง (WTI เหลือ $42/bbl เมื่อ ธ.ค.) ส่งผลบริษัทที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมลดประมาณการกำไรใน 4Q61 จากการด้อยค่าสต๊อกน้ำมัน ล่าสุดราคาน้ำมันฟื้น 20-25% จากปลายปีก่อน กลับมาที่ $54/bbl เป็นปัจจัยบวกต่อการเพิ่มมูลค่าสต๊อกน้ำมันในผลประกอบการ 1Q62 ล่าสุดตัวเลขส่งออกน้ำมันอิหร่านลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือต่ำกว่า 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากการคว่ำบาตรของสหรัฐ) ส่วน OPEC ลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (มีผล ม.ค.-มิ.ย.) และอาจต่ออายุออกไปอีกในการประชุมเดือน เม.ย.นี้

ความเสี่ยงที่ต้องระวังในระยะต่อไป เช่น 1) การปิดทำการ (shutdown) หน่วยงานรัฐของสหรัฐยุติลงแบบชั่วคราว ไปลุ้นอีกครั้ง 15 ก.พ.ว่า ปธน.กับสภาผู้แทนฯจะตกลงเรื่องงบฯสร้างกำแพงได้หรือไม่ 2) สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ 2 ประเทศปลายเดือน ก.พ. ดีลนี้ช่วยเลี่ยงการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์จาก 10% เป็น 25% (มีผล 2 มี.ค. หากไม่มีดีล) 3) จับตาการเจรจา Brexit ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง

ธีมการลงทุนเดือน ก.พ. เน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ, การปรับตัวขึ้นช่วงก่อนเลือกตั้ง (preelection rally), การลงทุนใน EEC, การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว, รวมถึงหุ้นปันผลดี และหุ้นล้าหลังรอรับอานิสงส์ราคาน้ำมันฟื้นตัว

Top picks ประจำเดือน ก.พ.ของ SCBS ได้แก่

ADVANC-หุ้นปันผล ธีมการใช้จ่ายในประเทศ มักปรับตัวขึ้น เดือน ก.พ.รับข่าวปันผล

BJC-ล้าหลังกลุ่มค้าปลีก รับอานิสงส์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะออกมาช่วงเลือกตั้ง

MINT-รับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อาจมีกำไรพิเศษปรับขึ้นมูลค่าลงทุนกลุ่ม NH

PTT-รับราคาน้ำมันขาขึ้นหากสหรัฐ-จีนตกลงได้ หุ้นมักปรับตัวขึ้น เดือน ก.พ.รับข่าวปันผล

ROJNA – ธีมวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ของไทย รอรับเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าหลังเลือกตั้ง

SPRC-laggard รับรู้ GRM ต่ำแล้ว ลุ้นน้ำมันฟื้น มักปรับตัวขึ้น เดือน ก.พ.รับข่าวปันผล