ก.ล.ต.จัดเสวนา “SEC Conference 2019: Capital Market for All” ตั้งเป้าให้รายย่อยเข้าถึงตลาดทุน และปรับองค์กรให้พร้อมรับยุคดิจิทัล

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดเสวนา “SEC Conference 2019 : Capital Market for All” ภายใต้แนวคิดตลาดทุนเพื่อทุกคน โดยปีนี้เน้นเดินหน้าวางรากฐานตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพบริการตลาดทุน เพื่อตอบโจทย์การเป็นแหล่งระดมทุน แหล่งลงทุน ที่สร้างความมั่งคั่งให้คนไทยในระยะยาว ผ่านผู้พูด 8 ท่าน 4 หัวข้อหลักที่จะมาพูดคุยตั้งแต่การดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของ ก.ล.ต. และแผนดำเนินการในอนาคตในปี 2562 รวมทั้ง หัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บรรยายภายใต้หัวห้อ “Paving Foundation for Being an Adaptive Regulator” โดยเปิดเผยว่า ก.ล.ต. มีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรกำกับที่มีการปรับตัว (Adaptive Regulator) ที่ตอบโจทย์ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย (stakeholders) ด้วยการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

ส่วนการออกกฎเกณ์ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อการกำกับดูแลเท่านั้น แต่เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ในตลาดทุนให้ stakeholders มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมโดยพึ่งพากฎเกณฑ์ให้น้อยที่สุด ด้วยการใช้กลไกอื่นที่หลากหลายประกอบกัน เช่น การสร้างความเข้าใจกับภาคธุรกิจเพื่อให้เห็นประโยชน์และเกิดความสมัครใจในการบริหารจัดการธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขัน การเปิดช่องกฎเกณฑ์ให้นำเทคโนโลยีมาให้บริการ และการให้นำแนะนำการลงทุน (advisory) เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ไม่มีความชำนาญในการตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองและต้องการตัวช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น โดยทำผ่าน 3 แนวคิดในการพัฒนา ได้แก่

1.นำการประเมินผลกระทบด้านการออกกฎเกณฑ์ (Regulatory Impact Assessment) หรือ RIA มาใช้ในการออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการใหม่ โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ จะเน้นการวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจนและใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแบบหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) มากขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (cost-benefit) ของ stakeholders รวมทั้งอาจใช้เครื่องมือที่เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (soft regulations) เช่น แนวทางการปฏิบัติหรือ มาตรฐานอุตสาหกรรมซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วและเข้ากับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

2.ปรับปรุงกระบวนการในการกำกับดูแลให้อยู่ในระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้ ลดขั้นตอนและระยะเวลา ขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมข้อมูลเพื่อเป็นองค์ที่มีการจัดการและใช้ข้อมูลในทุกระดับ (data driven) และเพิ่มความสะดวกในการ ให้นำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดทุน

3.ทบทวนความจำเป็นของกฎเกณฑ์เดิมและพิสูจน์ว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้กฎเกณฑ์ไม่เป็นอุปสรรค เท่าทันพัฒนาการตลาดทุน และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. และ นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และที่ปรึกษา ก.ล.ต. ร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ “Digitalization of the Capital market” โดยเท้าความว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในหลายด้าน ตลาดทุนเองเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

โดยในต่างประเทศ มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และบล็อกเชนเข้ามาเปลี่ยนโฉมกระบวนการ และรูปแบบของสินค้าและบริการทางการเงิน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงให้กับทั้งผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารทางการเงิน ที่จะได้ประโยชน์จากการนำสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินหรือหลักทรัพย์มาอยู่ในรูปของโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชนเพื่อให้สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายและรวดเร็ว หรือการให้บริการการลงทุน ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาที่ใช้ในทุกกระบวนการ ได้แก่ การตัดสินใจจัดสรรการลงทุนด้วยเทคโนโลยี AI และการจองซื้อและการลงทุนโดยที่เงินและสินทรัพย์อยู่ในรูปของโทเคนดิจิทัล

ในด้านการระดมทุน การพัฒนาของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ก่อให้เกิดช่องทางในการระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering (ICO) ซึ่งเสนอขายตราสารรูปแบบใหม่โดยใช้กระบวนการใหม่ที่สะดวกและรวดเร็ว หากมองในมุมของการกำกับดูแล หลายประเทศจะพิจารณาการให้สิทธิของตราสารนั้น ๆ ว่ามีลักษณะเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ และอาจกำกับดูแลภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ขึ้นอยู่กับโครงสร้างกฎหมายของแต่ละประเทศ ในประเทศไทย นิยามของหลักทรัพย์ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ไม่ครอบคลุมการให้สิทธิในรูปแบบใหม่นี้ ทำให้มีการออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มาเพื่อกำกับดูแล ในขณะเดียวกัน ผู้ระดมทุนทั่วโลกต้องพบกับความเสี่ยงว่าการระดมทุนจะถูกตีความเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ จึงหันกลับมาสนใจหลักทรัพย์ซึ่งมีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนและมีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพรียบพร้อมกว่า และนำกระบวนการของ ICO มาใช้ในการเสนอขายหลักทรัพย์เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันว่า Security Token Offering (STO)

จากพัฒนาการข้างต้น นายธีรนันท์ วาดภาพอนาคตของตลาดทุนว่าหากมีการนำบล็อกเชนมาใช้เป็นตัวแทนของทรัพย์สินต่างๆ (tokenization) เช่น หากนำเงินมาทำเป็น stable coin สร้างระบบชำระเงินในรูปแบบใหม่ และหากหลักทรัพย์อยู่ในรูปของโทเคน เมื่อนำมาเชื่อมโยงกันก็จะสามารถเปลี่ยนโฉมการทำธุรกรรมในตลาดทุนได้ ถ้าพูดถึงการระดมทุนในตลาดแรกซึ่งมีตัวกลางมาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชี นายหน้าและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และนายทะเบียนหลักทรัพย์ ในอนาคต นายธีรนันท์ มองว่าบริการหลังบ้านอย่างนายทะเบียนคงไม่ได้หายไป แต่จะมีตัวตนน้อยลงเพราะจะกลายเป็นระบบที่ทำหน้าที่แทน

ในส่วนของการจัดสรรหลักทรัพย์ อาจจะไม่ต้องมีนายหน้าและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพราะสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชนแจกจ่ายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ดังนั้นบทบาทของตัวกลางเหล่านี้จะเปลี่ยนไป กลายเป็นผู้ให้คำแนะนำ ผู้ให้บริการด้านการทำความรู้จักตัวตนผู้ลงทุน (KYC) หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี (tokenization platform) ส่วนที่มองว่าเทคโนโลยีคงไม่สามารถมาทดแทนได้คือผู้ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลอย่างที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้สอบบัญชีเพราะเป็นงานที่ยังต้องใช้ความสามารถของคนเป็นหลัก

ส่วนในตลาดรองนั้น ระบบหลังบ้านในการทำธุรกรรมนั้นมีความซับซ้อน ใช้เวลานาน และมีความเสี่ยงในเรื่องของการชำระราคาและการส่งมอบ กลไกเหล่านี้น่าจะถูกแทนที่ได้ทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ส่งผลให้การทำธุรกรรมนั้นรวดเร็วและความเสี่ยงลดลงเพราะการชำระราคาและส่งมอบเกิดขึ้นแบบแทบจะทันที นอกจากนี้ ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป สามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้โดยตรง และอาจมีหลายตลาดที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บทบาทของผู้เล่นในตลาดรองนั้นเปลี่ยนไปมาก

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ บทบาทในการเป็นช่องส่งคำสั่งซื้อขาย (execution) และตัวช่วยในเรื่องการชำระราคาและส่งมอบ (settlement) จะมีความสำคัญน้อยลง ต้องมีการปรับตัวไปสู่บริการที่สร้างมูลค่าได้มากกว่า เช่น ด้านการให้คำแนะนำ (advisory) การดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์ (market making) การเก็บรักษาทรัพย์สินซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบใหม่บนบล็อกเชน และการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) ในด้านการจัดการลงทุน เทคโนโลยีเข้ามาทำให้รูปแบบการให้บริการที่เคยแบ่งแยกได้ว่าเป็นการให้คำแนะนำ การจัดการทรัพย์สิน หรือการส่งคำสั่งลงทุน มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนมากขึ้นเพราะมีการผสมผสานบริการแต่ละด้านไว้ด้วยกัน ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการแต่ละด้านควรจะต้องหันมาร่วมมือกันในการพัฒนาบริการ มากกว่าที่จะคอยปกป้องธุรกิจของตนเอง

เมื่อภาพอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้ ท่าทีของ ก.ล.ต. คงจะหนีไม่พ้นการสนับสนุนการปรับตัวของตลาดทุนไทยสู่โลกใหม่ โดยเป้าหมายก็คือการเปิดให้ผู้เล่นรายใหม่มีโอกาสในการเข้ามานำเสนอสิ่งใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจเดิมสามารถปรับตัวได้ และที่สำคัญคือการรักษาความเชื่อมั่นและคุ้มครองผู้ลงทุนในโลกที่ขึ้นกับศูนย์กลางน้อยลง สิ่งที่ ก.ล.ต. ทำได้ ได้แก่ (1) การสร้างความชัดเจนทางกฎหมาย (2) การเปิดพื้นที่และลดการผูกขาด และ (3) การปรับมุมมองในการกำกับดูแล

ในด้านการสร้างความชัดเจนทางกฎหมาย บางเรื่องกฎหมายไม่ได้เป็นอุปสรรคก็จริง แต่มีความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติจริง ในส่วนนี้สามารถที่จะออกแนวปฏิบัติมาเพื่อให้สังคมมีความมั่นใจในการดำเนินการได้ สำหรับเรื่องที่เป็นอุปสรรค เช่น การออกหุ้นจะต้องมีใบตามกฎหมายประมวลแพ่ง ทำให้ไม่สามารถออกหุ้นในรูปแบบดิจิทัลโดยสมบูรณ์ได้ ประเด็นนี้ ก.ล.ต. ได้พยายามขจัดข้อจำกัดนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เคยเสนอร่างกฎหมายมารองรับ ในที่สุดก็ได้มีการแปรญัตติแก้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ให้รองรับการออกหลักทรัพย์แบบดิจิทัลผ่านกระบวนการของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซื้อร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก สนช. ไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ผลคือประเทศไทยมีกติการองรับทั้งการนำทรัพย์สินมาอยู่ในรูปโทเคนบทบล็อกเชน (tokenization) ซึ่งประเด็นกำกับดูแลที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของกลไกเก็บรักษาทรัพย์สินภายใต้โทเคนนั้น และการระดมทุนด้วยการออกโทเคน (STO) ซึ่งประเด็นสำคัญเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและการบริหารจัดการที่ดี (governance) ของผู้ระดมทุน ทั้งสองกรณีอาจทำได้ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ หรือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินอ้างอิงหรือสิทธิที่ให้ แต่ต้องยอมรับว่ากฎเกณฑ์ปัจจุบันภายใต้กฎหมายทั้งสองฉบับยังต้องมีการปรับปรุงให้มีความสมดุลระหว่างการเปิดให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้และการดูแลในประเด็นที่เป็นความเสี่ยงที่อาจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุน

ในด้านการเปิดพื้นที่และลดการผูกขาด ก.ล.ต. มองว่าผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัล ควรมีโอกาสในการเข้ามาให้บริการในด้านหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ได้ เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเองให้เท่าทันกับเทคโนโลยีก็ควรที่จะสามารถให้บริการในด้านสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย ภายใต้กฎหมายสองฉบับ จะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นที่มีบทบาทหน้าที่คล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) และที่ปรึกษาทางการเงิน tokenization platform อาจเข้ามาให้บริการภายใต้หมวกของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และศูนย์ซื้อขายแบบดิจิทัลอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในการเข้ามาในช่องทางที่มีอยู่ได้แก่ Electronic Trading Platform (ETP) และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์

ในโลกที่ขึ้นกับศูนย์กลางน้อยลงและไร้พรมแดนมากขึ้น นายธีรนันท์มองว่า ก.ล.ต. จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถกำกับดูแลโลกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเปิดให้มีการทดลองนวัตกรรมเพราะหากไม่เปิด คนจะไปทำสิ่งใหม่ในต่างประเทศโดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ รวมทั้ง ก.ล.ต. เองจะต้องมีโอกาสที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งใหม่ด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. อาจจะมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันในการส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระหว่างสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกเครื่องมือที่สำคัญคือข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้ลงทุนในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลดิบหรือข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ต้องทำให้กระจายไปยังผู้ลงทุนให้ได้ และช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการลงทุนได้มากขึ้น

“สุดท้าย คงเป็นไปไม่ได้ที่พนักงาน ก.ล.ต. จะมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในทุกเรื่องที่ต้องตัดสินใจหรือกำหนดนโยบาย ควรจะใช้ประโยชน์จากคนนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยให้ข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง บทบาทของ ก.ล.ต. นอกจากจะเป็นผู้ที่คอยป้องกันความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนแล้ว ยังต้องมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายธีรนันท์กล่าว

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และนายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ “Democratized Access to Wealth Advice” โดยกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนน้อยรายที่เข้าถึงตลาดทุนไทย ส่วนผู้ที่เข้ามาลงทุนแล้วก็อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ เนื่องจากเลือกลงทุนไม่ถูกหรือไม่เหมาะสม เนื่องจากข้อมูลที่มีมากเกินไป รวมถึงยังขาดการได้รับคำแนะนำและการวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง สำนักงานจึงมีเป้าหมายที่อยากเห็นประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงบริการให้คำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ โดยมีแนวทาง ดังนี้

1.เปิดพื้นที่ ลดอุปสรรค ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน โดยทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นอุปสรรคกับรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถแข่งขันอย่างเป็นธรรม

2.ส่งเสริมให้มีการไหลเวียนและเข้าถึงข้อมูล (information flow) ทำข้อมูลให้พร้อมใช้ในรูปแบบ open API และ machine readable เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบข้อมูล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกระบวนการระดมความคิดจากคนหมู่มากผ่านช่องทางเว็บไซต์ (crowdsourcing) ในการให้ความรู้ผู้ลงทุนในวงกว้าง ทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

3.เอื้อให้การเปิดบัญชี ปรับเปลี่ยน และโอนย้ายการลงทุนได้โดยสะดวก (ease of switching) โดยขจัดอุปสรรคทางกฎหมายให้เอื้อต่อการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ e-KYC

4.สนับสนุนให้เกิด landscape ด้านการให้คำแนะนำที่มีคุณภาพ สำนักงานได้ริเริ่มโครงการ “5 ขั้น มั่นใจลงทุน” ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจให้บริการให้คำแนะนำแบบองค์รวม

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทำให้เกิดโอกาสและการแข่งขันในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ลงทุน เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล การให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (robo advisor) การให้บริการผ่านมือถือ เป็นต้น ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยสำนักงานเห็นว่าการให้บริการให้คำแนะนำที่มีคุณภาพจะเป็นกุญแจที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้

ในมุมมองของธุรกิจหลักทรัพย์ นางภัทธีรากล่าวว่า “ในอดีตธุรกิจเน้นการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนลงทุนแบบรายหุ้นและรับความเสี่ยงด้วย แต่ปัจจุบันทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ลงทุนอย่างยั่งยืน ดังนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องปรับรูปแบบการให้บริการตามความต้องการของลูกค้า และต้องขยายรูปแบบในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการบริการให้คำแนะนำการลงทุน ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จ เพราะว่าถ้าลูกค้าอยู่ได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ สำหรับการแนะนำที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากการทำความรู้จักลูกค้า ซึ่งไม่ใช่แค่การพิสูจน์ตัวตน แต่ต้องเข้าใจถึงความคาดหวังและดีกรีในการรับความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยคำแนะนำดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนที่มาจากมุมมองของ บล. เอง เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเป็นคำแนะนำที่มีคุณภาพ”

ส่วนมุมมองของธุรกิจจัดการลงทุน นายวศินกล่าวว่า “นักลงทุนไม่ได้อยากได้กองทุน แต่อยากได้ผลลัทธ์ของการลงทุน โดยปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจเริ่มขายกองทุนแบบ open architecture (ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือ) เพราะได้ FundConnext (ระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อความสะดวกในการจองซื้อและขายหน่วยลงทุนต่าง บลจ.) มาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสำหรับผู้เล่นรายเล็ก อีกทั้ง บล. ก็เริ่มหันมาขายกองทุนรวมมากขึ้น ดังนั้น บลจ. ควรพิจารณาว่าจะเป็นแค่ผู้ผลิตหรือจะเพิ่มมูลค่าการให้บริการ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการส่งมอบคำแนะนำที่ดีให้แก่ลูกค้า เนื่องจากข้อมูลกองทุนรวมแบบย่อ (fund factsheet) ในรูปของ machine readable ทำให้เกิดข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย และสามารถนำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้ นำข้อมูลไปใช้เปรียบเทียบได้ ทำให้เกิดการตรวจสอบจากมวลชน โดยสรุป บลจ. ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและยอมรับ digital disruption โดยมองว่าดาต้าและเทคโนดลยีเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงผู้ลงทุนได้ดียิ่งขึ้น”

นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ “Driving Partnership for Sustainable Growth” โดยเปิดเผยว่า ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล น้ำท่วม ตลอดจนสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากเราอยากรักษาโลกเราไว้ โดยธุรกิจของเรายังสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สังคม และลูกหลานของเราอยู่ได้อย่างมีความสุข

Corporate Governance จะเป็นหัวใจของคำตอบในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี แม้ บจ. ไทยจะมีพัฒนาการที่ดีด้านความยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI ในจำนวนที่มากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับถูกจัดอันดับในเวทีโลก อาทิ Country Sustainability ROBECCOSAM ปี 2018 Corruption Perception Index ปี 2018 ในสิบอันดับสุดท้าย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมยังไม่ส่งผลเชิงบวกกับประเทศ

การเสริมสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเกิดระบบนิเวศวิทยาโดยการร่วมมือจากทุกฝ่ายในตลาดทุน ซึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ 3 ด้านผสมผสานกัน ได้แก่ Self-discipline Market Force และ Regulations กล่าวคือ ในส่วนของ Self-discipline คณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันกลไกดังกล่าว และเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก.ล.ต. ตลท. และ IOD จะเป็น”ตัวช่วย” เพื่อให้ บอร์ดรูมสร้างความยั่งยืนให้สังคม นอกจากนี้ ยังมุ่งการใช้มาร์เก็ตฟอร์สมากกว่าการใช้เร็กกูเลชั่นซึ่งมีต้นทุนทั้งต่อภาคเอกชนและการกำกับดูแล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนในการมีนโยบาย ติดตาม และเรียกร้องให้

บจ.ที่ลงทุน มี ESG* ที่ดี ขณะเดียวกันก็มีแผนการปรับปรุงกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลให้เหลือเพียงเล่มเดียว โดยให้ Integrated ESG เข้าไป นอกจากนี้เพื่อลดภาระของ บจ. แล้ว การให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่ารูปแบบยังเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนในการเอาไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนโดยที่ยังคงตอบโจทย์ผู้ประเมินต่างๆ รวมถึงยังรองรับ Machine Readable ด้วย ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. ตลท. สมาคม บจ. และ IOD อยู่ระหว่างการหารือกัน นอกจากนี้เพื่อลดความยุ่งยากของภาคเอกชน ก.ล.ต. ตลท. และ IOD ได้ร่วมกันจัดทำระบบ One Stop Service สำหรับ บจ. กรณีที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตลท. หรือไกด์ไลน์ของ IOD โดย บจ. สามารถติดต่อขอรับบริการจากระบบดังกล่าวและจะได้รับคำตอบในทุกเรื่องผ่านเจ้าหน้าที่ของ ตลท. ที่ดูแลระบบ One Stop Service โดยสรุป คือ การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่เราทุกคน และต้องลงมือทำทันที โดยบอร์ดต้องเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันที่ ก.ล.ต. ตลท. และ IOD ร่วมกันปรับกระบวนการทำงานสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเอกชน

หมายเหตุ * หลักของ ESG (Environmental, Social and Governance) เป็นแนวทางในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนโดยมีธรรมาภิบาลที่ดี คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม