ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดจับตารายงานการประชุมเฟด และการเจรจาทางการค้าจีน-สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/2) ที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/2) ที่ระดับ 31.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ซึ่งปรับตัวลง 0.6% เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว รวมถึงถ้อยคำแถลงของ นายจอห์น วิลเลี่ยมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ที่กล่าวว่าเขาพอใจกับระดับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในขณะนี้ และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกเสียจากว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อจะเปลี่ยนไปสู่ระดับที่สูงเกินคาด ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ โดยการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (21-22/2) ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็คาดหวังที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าให้ได้ก่อนสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้สื่อต่างประเทศได้รายงานว่าคณะผู้แทนของสหรัฐและจีนกำลังร่าง MOU จำนวน 6 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้แก่ การโอนถ่ายเทคโนโลยีและการโจรกรรมทางไซเบอร์ สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา การบริการ ค่าเงิน การเกษตร และกำแพงการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีศุลกากร ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การยุติสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง 7 เดือน นอกจากนี้ธนาครกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 29-30 มกราคม 2562 โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องกับแนวทางที่ว่าเฟดควรใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงและรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อีกทั้งเฟดยังระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการยุติการปรับลดงบดุลของเฟดก่อนสิ้นปี 2562 โดยกรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า เฟดควรประกาศแผนยุติการปรับลดการถือครองพันธบัตรให้สาธารณชนได้รับทราบก่อนสิ้นปีนี้ ก่อนที่การดำเนินการจะยื้ดเยื้อนานเกินไป ซึ่งการประกาศแผนดังกล่าวนั้นจะช่วยให้กระบวนการปรับลดงบดุลของเฟดกลับสู่ภาวะปกติและมีความแน่นอนมากยิ่งขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ (18/2) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/61 ขยายตัว 3.7% จากตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.3-3.6% และจากไตรมาส 3/61 ที่ขยายตัว 3.2% ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตในอัตราเพิ่มมากขึ้นเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำที่ 2.3% จากไตรมาส 3/61 ขยายตัว 2.6% โดยรวมจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้ GDP ทั้งปี 61 ขยายตัวได้ 4.1% สูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.2% เล็กน้อย เนื่องจากการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาส 4/61 ติดลบราว 0.1% นอกจากนี้ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 62 เติบโตในระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะปรับลดคาดการณ์ส่งออกและนำเข้าในปีนี้ลง แต่เชื่อว่าการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนจะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ดี ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดี การลงทุนภาครัฐเร่งตัวขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาในปีนี้ คือเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก บรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ส่วนในวันนี้ (22/2) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค. 2562 โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,993.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.65% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,026.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.99% ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.05-31.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (18/2) ที่ระดับ 1.1308/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/2) ที่ระดับ 1.1283/85 ดอลลา์สหรัฐ/ยูโร โดยนายโอลลี เรห์น สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอ่อนแอลง และอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันต่อไป จนกว่าอีซีบีจะบรรลุเป้าหมายในนโยบายการเงิน นอกจากนี้ในวันที่ (20/2) การประชุมระหว่าง นายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในการหาทางแก้ภาวะชะงักงันเกี่ยวกับกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยนายยุงเกอร์และนางเมย์ได้ยืนยันที่จะเจาจรกันอีกครั้งก่อนสิ้นเดือนนี้ อย่างไรก็ดีคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เปิดเผยเมื่อวานนี้ (20/2) ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนปรับตัวขึ้น 0.5 จุด มาอยู่ที่ระดับ -7.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งดีกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ -7.7 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1273-1.1372 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/2) ที่ระดับ 1.1342/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/2) เปิดตลาดที่ระดับ 110.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/2) ที่ระดับ 110.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยทางการญี่ปุ่นเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน ในเดือน ธ.ค.ปรัลลดลง 0.1% เมื่อเทียบรายเดือนโดยได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้า นอกจากนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดขาดดุลการค้าเดือน ม.ค. อยู่ที่ 1.42 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศจีนร่วงลงอย่างรุนแรง โดยตัวเลขยอดส่งออกเดือน ม.ค. ร่วงลง 8.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 5.57 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 0.6% สู่ระดับ 6.99 ล้านล้านเยนในเดือน ม.ค. ในขณะที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของญี่ปุ่นออกมาอยู่ที่ระดับ 48.5 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.4 ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.37-110.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/2) ที่ระดับ 110.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ