ประกันไม่พร้อมใช้บัญชีใหม่ สมาคมฯเคาะผลกระทบ มี.ค.

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

“สมาคมประกันชีวิตไทย” เตรียมสรุปผลกระทบมาตรฐานบัญชีใหม่ “IFRS9-IFRS17” ช่วง มี.ค-เม.ย. หวังขอเลื่อนใช้จากที่กำหนดต้นปี”65 ยันบริษัทประกันไม่พร้อม เหตุต้องมีการปรับระบบต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกับระบบบัญชีตามมาตรฐานใหม่ เล็งถกกรมสรรพากรชี้แจงผลกระทบการจ่ายภาษี-วิธีคำนวณผลการด้อยค่า

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสมาคมกำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS9 และ IFRS17 ของบริษัทประกันสมาชิกทั้ง 23 ราย โดยคาดว่าภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2562 นี้ จะสามารถระบุได้ว่า จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะทำออกมาในรูปแบบของข้อมูลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เนื่องจากการดำเนินการ IFRS17 ว่าด้วยเรื่องสัญญาประกันภัยนั้น จะต้องมีการวางระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับตามมาตรฐานการรายงานทางบัญชีดังกล่าว ขณะที่ปัจจุบันแต่ละบริษัทยังไม่มีความพร้อม จึงไม่สามารถประมวลผลกระทบที่เป็นจำนวนเม็ดเงินที่ชัดเจนออกมาได้

“ระบบที่เราต้องมี คือ ระบบงาน ระบบการลงทุน และระบบคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่จะเชื่อมโยงกับระบบบัญชี ไอที และกระแสข้อมูล (dataflow) ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินเยอะมาก” นางนุสรากล่าว

นอกจากนี้ทางสมาคมยังมีข้อกังวลต่อการรายงานงบการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิมนั้น ว่า จะมีผลในเชิงการจ่ายภาษีอย่างไร ประกอบกับรายละเอียดที่เกี่ยวกับวิธีการคำนวณผล “การด้อยค่า” ที่จะต้องจัดทำเครื่องมือในการคำนวณผลขาดทุนทางเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งจะต้องนัดเข้าไปหารือกับกรมสรรพากร

“ต่อไปการรายงานงบการเงินจะเปลี่ยนเป็น “กำไรจากการขายประกันชีวิต”จากเดิมที่เป็น “เบี้ยประกันชีวิตรับรวม” ซึ่งจะต้องบันทึกและกระจายตามระยะเวลาของสัญญาประกันภัย ในขณะเดียวกันหากขายสินค้าที่ไม่มีกำไรก็จะต้องบันทึกขาดทุนทั้งก้อน ซึ่งทำให้เห็นตัวแดงติดลบทันที จึงอาจทำให้เกิด slow down ของ growth ได้ หากไม่เลิกขายโปรดักต์ที่ขาดทุน” นางนุสรากล่าว

ปัจจุบันสมาคมค่อนข้างเป็นห่วงการใช้มาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS9 และ IFRS17 ที่จะมีผลบังคับต้นปี 2565 เนื่องจากขณะนี้มีบางประเทศที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งทุกวันนี้ภาคธุรกิจประกันเองยังไม่พร้อม แต่ปีนี้ทางสมาคมจะทำงานแอ็กทีฟยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดอบรมสัมมนาเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS9 และ IFRS17 ให้กับบริษัทสมาชิกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริง ซึ่งปีก่อน ๆ ได้มีการอบรมเชิงนโยบายและคอนเซ็ปต์เรื่องนี้ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะเจอปัญหาหรืออาจจะต้องดีเลย์ออกไปหรือไม่นั้น คงจะต้องมาดูกันอีกทีว่า พอดำเนินการในส่วนของข้อมูลเชิงลึกไปแล้ว ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมประกันมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน

นายสาระ ล่ำซำ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ต่อไปบริษัทประกันจะต้องบริหารพอร์ตโฟลิโอการขายใหม่ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่มีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น จะทำให้บริษัทประกันชีวิตต้องมีการปรับโมเดลใหม่ ซึ่งเชื่อว่าช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ยังมีโอกาสที่จะเติบโต เฉกเช่นเดียวกับช่องทางตัวแทน เพียงแต่หน้าที่ของตัวแทนวันนี้จะต้องปรับตัวในมุมของการให้คำปรึกษาในเชิงการประกันชีวิตมากกว่าที่จะเป็นคนขายประกันชีวิตทั่วไป

“ในปี 2562 คาดการณ์เบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งระบบจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 3-5% เบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 6.48-6.5 แสนล้านบาท โดยสินค้าแบบชำระเบี้ยครั้งเดียว (single premium) และแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เช่นเดียวกับประกันสุขภาพ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!