ลุ้น สนช.แก้กฎหมายโค้งสุดท้าย ปลดล็อกประกันชีวิตขายกรมธรรม์สุขภาพ

กิตติ ปิณฑวิรุจน์

คปภ.แก้กฎหมายแม่บทกลุ่มที่ 2 ตีกรอบ “บทนิยามการประกอบธุรกิจประกันชีวิต” เปิดทางฝั่งประกันชีวิตขาย “ประกันสุขภาพ” เป็นกรมธรรม์หลักได้เหมือนฝั่งประกันวินาศภัย หวังเพิ่มโอกาสบริการครบวงจรถึงตัวบุคคล ยึดหลักผู้ซื้อประกันได้ประโยชน์ ระบุจัดทำเฮียริ่งมานานแล้ว ชี้ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที คาดต้องออกกฎหมายลูก “กำหนดขอบเขต” ต่อไป

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … และประกันวินาศภัย (ฉบับที่…) พ.ศ. … กลุ่มที่ 2 ซึ่งจะแก้ไขในส่วน “บทนิยาม” ของการประกอบธุรกิจประกันชีวิตให้หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายต่อตัวบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต่อไปจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถขายประกันสุขภาพเป็น กรมธรรม์หลักได้ จากเดิมกำหนด “ขายเป็นสัญญาเพิ่มเติม” ซึ่งมีข้อจำกัด “ต้องผูกกับกรมธรรม์หลัก”

“ประกันสุขภาพเดิมเข้าข่ายคำนิยามธุรกิจประกันวินาศภัย แต่ที่ผ่านมา คปภ.อะลุ่มอล่วยให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถขายประกันสุขภาพได้ แต่ต้องขายเป็นสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งขายมาตั้งแต่ปี 2535” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับปัจจุบันนี้ ธุรกิจประกันภัยหลายประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการครอบคลุมครบวงจรถึงตัวคน เพราะฉะนั้น ธุรกิจประกันชีวิตก็จะต้องมีให้ครบ ไม่ใช่ขายเป็นสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มี “ข้อจำกัด” คือ เมื่อกรมธรรม์หลักสิ้นสุดลง สัญญาเพิ่มเติม “ประกันสุขภาพ” ก็จะสิ้นสุดลงด้วย ทั้งที่ผู้เอาประกันยังอยากได้รับความคุ้มครองนี้จึงเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดสำหรับการทำประกันสุขภาพในธุรกิจประกันชีวิต

“ถ้าแก้ไขกฎหมายนี้แล้วจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพกับบริษัทฝั่งไหนก็ได้ เพราะธุรกิจประกันวินาศภัยขายแบบสัญญาปีต่อปี ในขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตขายสัญญาระยะยาว” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ดี การแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง คปภ.มีการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมานานแล้ว ตั้งแต่ร่างกฎหมายรวมกันเป็นฉบับเดียว และมีการยกเลิกทั้งฉบับและร่างใหม่เพื่อแยกธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยออกจากกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เสนอมาตั้งแต่ต้น จึงไม่ใช่หลักการที่เพิ่มขึ้นมาทีหลัง และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีข้อโต้แย้งจากฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัยแต่อย่างใด

แหล่งข่าว คปภ.กล่าวถึงกรณีหลักการ หลังจากกฎหมายกลุ่มที่ 2 มีผลบังคับใช้แล้วว่า คปภ.จะต้องออกกฎหมายลูก (อนุบัญญัติ/ประกาศ คปภ.) ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เพื่อกำหนดขอบเขตหรือเกณฑ์เรื่องนี้ออกมา และจะต้องจัดพับลิกเฮียริ่งอีกทีว่า ขอบเขตแค่ไหน ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจประกันชีวิตจะยังไม่สามารถขายประกันสุขภาพเป็นกรมธรรม์หลักได้ทันที เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ว่า “ให้มีอำนาจ คปภ.โดยใช้ดุลพินิจตามเห็นสมควรแก่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น” ถ้ามีความจำเป็นก็จะออกประกาศ แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นจะไม่ออกประกาศก็ได้

“ครม.มีมติเห็นชอบกฎหมายกลุ่มที่ 2 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ซึ่งขณะนี้รอชี้แจงกฤษฎีกา และเมื่อกฤษฎีกาได้รับเรื่องก็จะมอบหมายคณะทำงาน หลังจากนั้น คปภ.จะเข้าไปชี้แจงคณะทำงานกลุ่มนี้ ก่อนนำเสนอเข้า สนช. ซึ่งจะทันเลือกตั้งหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะสปีดอยู่ที่กฤษฎีกา ถ้าเห็นว่าไม่มีประเด็นอะไรก็น่าจะเร็ว แต่ถ้ามีประเด็นก็อาจจะไม่ทัน ซึ่งปกติกฎหมายที่อยู่กฤษฎีกาจะใช้เวลานานที่สุดเมื่อเทียบกระบวนการต่าง ๆ” แหล่งข่าว คปภ.กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของโครงสร้างภาษีการขายประกันสุขภาพในธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ที่เดิมทั้งสองฝั่งธุรกิจอาจจะไม่เหมือนกัน ทาง คปภ.จึงอาจต้องมีการพูดคุยกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสองธุรกิจนี้ เนื่องจากเป็นการขายสินค้าเหมือนกัน ๆ ก็ควรจะถูกปฏิบัติเหมือนกัน ๆ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องเข้าไปหารือกับทางกรมสรรพากร

นายกิตติ ปิณฑวิรุจน์ เลขาธิการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้เคยคุยกับ คปภ.มานานแล้ว เนื่องจากถ้าจะให้บริษัทเอกชนเข้าไปช่วยเหลือและดูแลด้านสุขภาพของประชาชน จะต้องอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตขายประกันสุขภาพเป็น stands alone ได้ เพราะขณะนี้ธุรกิจประกันสุขภาพมีเบี้ยรับรวมกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท โดยมาจากธุรกิจประกันชีวิตประมาณ 70% และอีก 30% มาจากธุรกิจประกันวินาศภัย

“เรามองประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าใครจะขาย แต่ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์ ซึ่งมองกันจริง ๆ ทุกวันนี้ประกันสุขภาพยังขาดทุนอยู่ หลัก ๆ ก็มาจากค่ารักษาพยาบาลที่แพง ถ้าคุมค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ได้ โอกาสที่ลอสเรโชจะต่ำ การปรับเบี้ยประกันก็จะไม่มี ซึ่งสิ่งที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ถือว่ามาถูกทางแล้ว” นายกิตติกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!