ธปท. เตรียมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ชง กนง. หลังส่งออก ม.ค.หดตัวแถมมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องในเดือน ก.พ.

ธปท. เตรียมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ชง กนง. หลังส่งออก ม.ค.หดตัวแถมมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องในเดือน ก.พ.

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. 2562 ว่า ธปท. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับสมมุติฐานเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ใหม่ โดยจะเป็นข้อมูลสำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมรอบต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่า อาจจะมีการทบทวนในส่วนของตัวเลขส่งออกใหม่ หลังจากการส่งออกในเดือน ม.ค. 2562 มีการหดตัว และ ในเดือน ก.พ.ก็ยังมีแนวโน้มที่อาจจะติดลบ

ขณะที่การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์ แต่คงไม่ถึงขั้นติดลบ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐยังมีต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ซึ่งหลังจากนั้นคาดว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาจะมีนโยบายด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

“ปัจจัยต่างประเทศ ก็มีทั้งเสี่ยงเพิ่มขึ้นและลดลง อย่างเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ กรณีอินเดีย ปากีสถาน ก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะเดิมเราก็คิดถึงแต่ตะวันออกกลาง หรือกรณีสหรัฐกับเกาหลีเหนือที่มาประชุมที่เวียดนาม ที่ตอนแรกดูว่าจะออกมาดี แต่ก็ยังมีประเด็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนสงครามทางการค้าสหรัฐกับจีน คิดว่าทิศทางน่าจะออกมาเป็นบวก” นายดอนกล่าว

ขณะที่การขยายตัวของภาคเกษตรปีนี้ มองว่า มีแนวโน้มที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะไม่เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยในปีนี้แน่นอน นายดอน กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะยังขยายตัว แต่คงชะลอจากปี 2561 ที่ขยายตัวได้ 4.1%

นายดอน กล่าวว่า ในเดือน ม.ค. เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องในทุกหมวดการใช้จ่าย เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่หดตัว ขณะที่การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวได้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิเล็กน้อย
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมปรับดีขึ้นตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่องตามผลผลิต ขณะที่ราคาหดตัวน้อยลง ประกอบกับรายได้รวมนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีในทุกสาขา สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุนที่ขยายตัวดี และการนำเข้าสินค้าทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวในหลายหมวดสินค้า อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง แม้ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังขยายตัวดี

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายประจำที่ขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ขยายตัวสูงจากผลของการเหลื่อมเดือนจากปกติที่จ่ายในเดือนมีนาคมเป็นมกราคมในปีนี้ ด้านรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายโครงการขนาดเล็กของบางหน่วยงาน ภายหลังการทบทวนโครงการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

นายดอน กล่าวอีกว่า ในเดือน ม.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวที่ 4.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอลงตามนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวัน ขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม visa on arrival ประกอบกับมีการเปิดเส้นทางบินใหม่หลายเส้นทางระหว่างไทย-จีน และ ไทย-อินเดีย

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากเดือนก่อนจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นสำคัญ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 4.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำหดตัว 3.9% โดยเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้าจาก 1) ผลของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางหดตัว ประกอบกับการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวตามการปรับลดสินค้าคงคลังของผู้นำเข้า 2) วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในหลายหมวดหดตัวต่อเนื่อง
และ 3) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ส่งผลให้มูลค่าสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์หดตัว

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แม้การผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศ อาทิ หมวดยานยนต์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่เติบโตได้ดี แต่การผลิตเพื่อส่งออก อาทิ หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และหมวดยางและพลาสติก หดตัวตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง

ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ 4.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำขยายตัว 4.5% ตามการขยายตัวใน 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวดีในหลายหมวด โดยเฉพาะการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ขยายตัวจากด้านราคา 2) หมวดสินค้าทุนที่ไม่รวมหมวดเครื่องบินและแท่นขุดเจาะ ตามการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวดีในหลายหมวด สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.27% ชะลอจาก 0.36% ในเดือนก่อน ตามหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้นตามราคาเนื้อสัตว์เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนเกินดุลจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน