“KTB” อัพเกรดไอทีพลิกทุกมิติ ปูพรมดิจิทัลแบงกิ้งกวาดรายย่อย

ธนาคารกรุงไทย (KTB) ผู้บริหารได้จัดกิจกรรม “กรุงไทย Press Trip @Taiwan” นำคณะสื่อมวลชนลัดฟ้าไปศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมและศิลปะ ณ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ช่วงวันที่ 20-24 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา

ซึ่ง “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดแถลงทิศทางการดำเนินงานของธนาคารว่า ปีนี้จะเป็นปีที่แบงก์ทุ่มลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ เพื่อก้าวสู่การเป็น “invisible bank” (ธนาคารที่ไร้ตัวตน) โดยคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ได้อนุมัติงบประมาณลงทุนด้านไอทีต่อเนื่องในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถึงราว 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งก้อนใหญ่จะลงทุนในปีนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท

“หัวใจของระบบธนาคารในอนาคต คือการลดต้นทุนให้บริการ เพราะทุก ๆ 1 ล้านบาทของรายได้ค่าฟีที่หายไป ต้องทดแทนด้วยการลดต้นทุนให้ได้ 4-5 ล้านบาท เพราะต้องตัดต้นทุนการให้บริการ ตัดตัวกลาง ตัดการทำงาน manual (ทำด้วยมือ) ไปให้หมด แล้วนำ machine (เครื่อง) นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้”

“ผยง” บอกว่า ปีนี้จะเป็น “ปีแห่งการปฏิบัติอย่างลงลึก” ผ่านยุทธศาสตร์ 5 P ซึ่ง P แรกคือ platform ที่เน้นการเป็นแพลตฟอร์มของรัฐบาล, P ที่สองคือ partnership (พันธมิตร) ทั้งด้านระบบขนส่งมวลชน ระบบโลจิสติกส์ ระบบรักษาพยาบาล ฯลฯ โดยขยายทั้งรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ P ที่สามคือ people (บุคลากร) ซึ่งปัจจุบันแบงก์มีพนักงานถึง 2.2 หมื่นคน ตั้งเป้าใน 4 ปี น่าจะลดได้ 30% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมที่จะเข้าสู่ invisible bank ได้ยั่งยืน โดยจะลดแบบธรรมชาติ คือ เกษียณ เออร์ลี่รีไทร์ (ใช้งบฯเฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อปี) และการลาออก

ด้านสาขาที่ปัจจุบันมีกว่า 1,100 สาขา ปีนี้จะปรับเปลี่ยนกว่า 620 สาขา ที่พบว่าที่ผ่านมาลูกค้ามีการปรับตัวไปใช้ช่องทางดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีทั้งปิดบ้างยกระดับสาขาบ้าง โดยภายในเดือน มี.ค.นี้จะนำร่องราว 20 สาขา ส่วนอีกราว 500 สาขาที่เปลี่ยนแปลงช้าก็จะคงไว้ก่อน ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปีสาขาจะเหลืออยู่ที่ 1,000 สาขา โดยการลดสาขาไม่กระทบพนักงาน

“หลังจากนี้ การจะปิดสาขาต้องมีการเข้าไปตรวจเช็กปฏิสัมพันธ์ของสาขานั้น ๆ ที่มีต่อลูกค้า เพราะแบงก์มีข้อมูลว่าหลังปิดสาขา 3-6 เดือนส่งผลให้แบงก์เสียฐานลูกค้าไปพอสมควร ขณะที่จุดไหนที่จะปรับเปลี่ยนก็ต้องมีความพร้อมในส่วนของเครื่องอัตโนมัติต่าง ๆ และสามารถให้บริการได้อย่างหลากหลาย พร้อมกับฝึกอบรมพนักงานให้มีความคุ้นชินกับการให้บริการผ่านช่องทางและเครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลใหม่ ๆ”

ส่วน P ที่สี่คือ process (กระบวนการ) ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีขึ้น มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่แก้ปัญหาได้เร็ว เพื่อให้ลูกค้าพอใจ โดยมี “กรุงไทยคุณธรรม” เป็นแกนกลางเพื่อป้องกันการทุจริตและ P ที่ห้าคือ performance (ประสิทธิภาพ) ที่ต้องเพิ่มขึ้นทุกมิติทั้ง NIM หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ, การปล่อยกู้ที่จะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงตัวบุคคลมากขึ้น โดยกำหนดเครดิตสกอริ่งแบบใหม่เพื่อให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยออกมาแบบไม่เหมาเข่ง และการบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งทุกตัวจะถูกนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ

เอ็มดีกรุงไทยตั้งเป้าว่า ปีนี้สินเชื่อเติบโตราว 5% ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโดยจะโฟกัสที่สินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ตั้งเป้าโต 6-7% และลดทอนการปล่อยกู้ภาครัฐลง ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีก็จะเข้าไปปล่อยกู้เซ็กเตอร์ใหม่ ๆ มากขึ้น เน้นเกษตรแปรรูป โลจิสติกส์ เป็นต้น ส่วนสินเชื่อรายใหญ่คงโตได้ แต่ต้องดูสถานการณ์การออกตราสารหนี้ด้วย

“ปีนี้เราคิดว่าจะยังคงโตหลักด้วยเซ็กเตอร์รายย่อย เพราะจะตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้ยุคดิจิทัลอย่างมาก ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฝาก การโอน สาขา หรือช่องทางต่าง ๆ เราจะเร่งยกระดับทั้งสิ้น โดยต้องมี AI และ machine learning อยู่ข้างหลัง”

สำหรับแอปพลิเคชั่น “กรุงไทย Next” ที่เปิดตัวปีก่อน ปีนี้ตั้งเป้าผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ซึ่ง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่กว่า 4 ล้านคนแล้ว ส่วนในช่วงไตรมาส 2 แบงก์จะเข้าไปปล่อยสินเชื่อคาร์ฟอร์แคช แต่จะเป็นไปเพื่อเติมเต็มมากกว่าจะเน้นการเติบโต

ส่วน NPL ที่ยังอยู่ระดับสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ปีนี้ตั้งใจลดให้ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปีนี้น่าจะรักษาระดับที่ 125% บวก/ลบจากสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 125%

“ผยง” ย้ำว่า ปัจจุบัน NIM กรุงไทยอยู่ที่ระดับ 2.5% นั้น โดยแบงก์ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยเหมือนหลายธนาคาร เพราะสัดส่วนเงินฝากต่อการให้กู้ยังอยู่ระดับต่ำที่ราว 92% ขณะที่หลายธนาคารมีสัดส่วนสูงถึง 108% รวมถึงยังมีเงินฝากกระแสรายวัน (CASA) ถึง 70% จึงทำให้ธนาคารไม่มีแรงกดดันที่ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

“ขณะนี้ดอกเบี้ย MRR ที่เกี่ยวกับรายย่อยและเอสเอ็มอีของกรุงไทย อัตราต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์เท่ากับอีกธนาคารหนึ่ง ซึ่งเราตรึงอัตราไว้ในฐานะธนาคารของรัฐ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของ NIM เราอาจจะถ่าง MRR ขึ้นไปบ้าง ในกรณีที่การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์มีการกดดันอย่างเข้มข้นในเรื่องการดึงดอกเบี้ยมาจูงใจในปีแรก ๆ กันมาก”

ภาพทั้งหมดนี้ “ผยง” มั่นใจว่า “ปีนี้เราจะทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ีกำไร 2.5 หมื่นล้านบาทอาจจะบวกนิดหน่อย ภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายไอทีที่มากขึ้น”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!