สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 เดือน

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 เดือน แตะ 130 จุด เหตุการเมืองในประเทศชัดเจน ส่วนกลุ่มแบงก์ยังครองอันดับกลุ่มธุรกิจน่าลงทุนสูงสุด ระบุนักลงทุนยังคงติดตามผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเสถียรภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน มีนาคม 2562  ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยในครั้งนี้อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” (Bullish) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์การเมืองจากการเลือกตั้งที่ชัดเจนเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (ณ วันที่ทำการสำรวจ) ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงติดตามผลเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเสถียรภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน มีนาคม 2562 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

– ดัชนีความเชื่อมั่นจากทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.62) อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) ที่มีค่าดัชนีอยู่ระหว่าง 120 – 159 จุด จากเดิมอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เพิ่มขึน 11.92% มาอยู่ที่ระดับ 130.68 จุด

– ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish) เช่นเดิม

– ดัชนีนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) เช่นเดิม

– ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ Zone ร้อนแรง (Bullish)

– ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม

– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)

– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)

– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง

– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

“ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีการเคลื่อนไหวระหว่างเดือนปรับตัวผันผวนในบางช่วงตามปัจจัยทางการเมืองและข่าวการเลือกตั้ง จากผลสำรวจทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ชี้ว่านักลงทุนคาดหวังในเชิงบวกจากการเข้าสู่การเลือกตั้ง และความเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่นักลงทุนบางส่วนกังวลทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ว่ามีทิศทางผลการเจรจาในเชิงบวก และเสถียรภาพของรัฐบาลในประเทศหลังการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนติดตามมากที่สุด

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ การพิจารณายุติการปรับลดขนาดงบดุลและทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินและอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป การพิจารณาข้อตกลง BREXIT กับ EU ซึ่งมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 29 มีนาคม การปรับลดคาดการณ์ GDP ของกลุ่ม EU จาก 1.9% มาเป็น 1.3% ผลการประชุมนโยบายเศรษฐกิจของจีนในเดือนมีนาคม กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือ หมวดธนาคาร (BANK) ขณะที่หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด” นายไพบูลย์กล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมีนาคม 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

– ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนมีนาคมนี้ อยู่ที่ระดับ 54 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดที่ใกล้เคียงกับครั้งที่แล้ว ที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนมีนาคมนี้จะคงระดับดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อไป โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก เป็นหลัก

– ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุม กนง. พฤษภาคม 2562 (ประมาณ 10 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 83 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากครั้งที่แล้ว และขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase)” จากระดับ 2.14% ณ วันที่ทำการสำรวจ (12 ก.พ. 62) เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ที่ดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่าน มาอยู่ที่ระดับ 77 และอยู่ในเกณฑ์ “มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase)” จากระดับ 2.48% ณ วันที่ทำการสำรวจ (12 ก.พ. 62) โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจาก Fund flow จากต่างชาติ และ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้