คลังแจงปรับแผนก่อหนี้เพื่อลงทุนเพิ่ม เผยคมนาคมชงครม.พิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. เตรียมให้รัฐรับภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละ3พันล้านบาท

คลังแจงปรับแผนก่อหนี้เพื่อลงทุนเพิ่ม เผยคมนาคมชง ครม.พิจารณาแผนฟื้นฟู ขสมก. เตรียมให้รัฐรับภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละ 3 พันล้านบาท พร้อมกันนี้รัฐเล็งรับภาระใช้คืนหนี้แทน ขสมก. ทั้งก้อนราว 1 แสนล้านบาทในปี’66

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงกรณีมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปสัปดาห์ก่อน ว่า การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 1 มีวงเงินปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกู้ใหม่ที่เพิ่มกว่า 62,000 ล้านบาท เป็นการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) และโครงการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

“การก่อหนี้สำหรับโครงการดังกล่าวข้างต้นจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ดี จากการปรับแผนระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก” นายธีรัชย์ก่ลาว

สำหรับการอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 ปรับปรุงครั้งที่ 1 นั้น กระทรวงการคลังได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน แนวทางในการแก้ไขปัญหา และแผนการบริหารหนี้ ที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1) กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีรายได้เพียงพอในการชำระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่สาเหตุที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เนื่องจากมีหนี้ที่ครบกำหนดในวงเงินที่ค่อนข้างสูง ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำแนวทางในการกระจายภาระหนี้ให้สอดคล้องกับการจัดหารายได้ของหน่วยงานและความสามารถในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ในแต่ละปี

2) กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่มี DSCR ติดลบ ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะ (Public Service) และดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการหนี้และแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้ชัดเจนและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายธีรัชย์กล่าวว่า ในกรณี ขสมก.นั้น ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอไปที่ ครม. แล้ว ซึ่งจะมีทั้งแผนการจัดหารถใหม่ และ การปรับเส้นทางเดินรถใหม่ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับภาระหนี้สินสะสมที่มีอยู่ร่วม 1 แสนล้านบาท ในเบื้องต้น รัฐบาลจะรับภาระจ่ายดอกเบี้ยไปก่อนตกปีละ 2-3 พันล้านบาท และ หากผลประกอบการหลังจากนี้ กำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของ ขสมก.ไม่ติดลบ ก็จะมีการพิจารณาโยกหนี้ก้อนดังกล่าวมาให้รัฐบาลรับภาระแทน ซึ่งตามแผนประเมินว่า น่าจะเป็นในปี 2566

ส่วนประเด็นหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สบน. ขอเรียนว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ได้กำหนดขอบเขตของหนี้สาธารณะให้ไม่รวมหนี้เงินกู้ของหน่วยงานภาคการเงิน (Financial Operation) ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน เนื่องจากเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจ (Financial Intermediary) ที่มีการเคลื่อนไหวของกระแสเงินอย่างรวดเร็วตลอดเวลา

นอกจากนี้ หนี้เงินกู้ของ ธปท. ไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะมาตั้งแต่มีกฎหมายหนี้สาธารณะครั้งแรก ซึ่งในการแก้ไขนิยามหนี้สาธารณะในปี 2560 นั้น เป็นไปเพื่อสร้างความชัดเจนและสอดคล้องกับหลักการเดิมของกฎหมายในการไม่นับรวมหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะเช่นกัน ประกอบกับเพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดให้มีการติดตามสถานะหนี้เงินกู้ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งรวมถึงหนี้ของ ธปท. และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและคณะรัฐมนตรีอย่างสม่ำเสมอ